นักศึกษาวิศวะเครื่องกล มทร.รัตนโกสินทร์สุดเจ๋ง สร้างระบบกลั่นเอทานอลพลังงานแสงอาทิตย์
จุดประกายพลังงานชีวมวลจากพืชผลทางการเกษตร คว้ารางวัลในงานมหกรรมวิจัยระดับชาติ 2019
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.รัตนโกสินทร์ ส่งผลงาน “ระบบกลั่นเอทานอลพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคนิคปั๊มฟองร่วมกับตัวรวมรังสีแบบพาราโบลา” และคว้ารางวัล Bronze Award ได้รับถ้วยรางวัลจากเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท และเกียรติบัตร ในงาน THAILAND RESEACH EXPO 2019 มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 ระหว่างวันที่ 7 – 10 เมษายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร พร้อมกับได้รางวัลระดับ 4 ดาว พร้อมเงินรางวัล 4,000 บาท ในการร่วมกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา : บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากงานวันนักประดิษฐ์ 2562 (Thailand Inventors’ Day 2019) ระหว่างวันที่ 3 – 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ไบเทคบางนา ซึ่งจัดโดยสำนักคณะวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิระพล กลิ่นบุญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นายวรพล ดำรงค์ฤทธิ์ หรือน้องกานต์และน้องแครอท นางสาวฐิรกานดา อรอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.รัตนโกสินทร์ เจ้าของผลงานได้กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างผลงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ปัจจุบันนี้ความต้องการในการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ มีความต้องการสูงมาก โดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่ได้จากฟอสซิลซึ่งในตอนนี้มีปริมาณที่ลดลง อีกทั้งมีราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงศึกษาค้นคว้าเพื่อที่จะพัฒนาในการหาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เพื่อมาทดแทนการใช้พลังงานจากปิโตรเลียม โดยมีพลังงานที่น่าสนใจตัวหนึ่งคือ พลังงานจากชีวมวลที่ได้จากพืชผลทางการเกษตรที่ได้จากการหมักวัสดุ 3 ชนิด คือ สับปะรด กากน้ำตาล และข้าวเหนียว เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือนำมาใช้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราส่วนที่เหมาะสม สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์เป็นแนวทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาทางด้านพลังงานแล้วยังสามารถช่วยแก้ปัญหาพืชผลการเกษตร ราคาตกต่ำได้ และยังลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศได้อีกด้วย
เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) เป็น สารประกอบไฮโดรคาร์บอนจําพวกแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง เอทานอลเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน สามารถละลายทั้งในนํ้า และสารละลายอินทรีย์อื่นๆ เป็นแอลกอฮอล์ที่สามารถนํามาบริโภค นอกจากนี้ยังสามารถนํามาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในรูปเอทานอลไร้นํ้า (Anhydrous ethanol) ที่มีความบริสุทธิ์สูง (เข้มข้นร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร) หรือ อาจใช้เป็นเอทานอลที่มีนํ้า (hydrous ethanol) ซึ่งการนําเอาเอทานอลไปใช้นั้นสามารถนําไปใช้ได้หลายทาง เช่น แอลกอฮอล์ที่ใช้รับประทานได้โดยตรง ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสุรา เครื่องสำอางและยา
“ระบบกลั่นเอทานอลพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคนิคปั๊มฟองร่วมกับตัวรวมรังสีแบบพาราโบลา” เพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปศึกษาและพัฒนาระบบกลั่นเอทานอลให้ดียิ่งขึ้น การทดลองนี้มุ่งเน้นที่จะศึกษากระบวนกลั่นเอทานอลพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้ตัวรวมรังสีแบบพาราโบลาเป็นตัวช่วยหลักในการให้ความร้อนแก่ระบบกลั่น ด้วยเทคนิคปั๊มฟอง โดยเลือกตัวอย่างผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้ในการทดลองคือ สับปะรด, ข้าวเหนียว และกากน้ำตาล ซึ่งนำผลผลิตทางการเกษตรนี้ไปผ่านกระบวนการหมัก เพื่อให้ได้เป็นเอทานอลตั้งต้นที่ 10 %v/v และนำไปผ่านกระบวนการกลั่นผลของการทดสอบสมรรถนะของระบบกลั่นเอทานอลพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคนิคปั๊มฟองร่วมกับตัวรวมรังสีแบบพาราโบลา โดยใช้ผลผลิตทางการเกษตร 3 ชนิด ที่ดีที่สุดพบว่า อันดับที่ 1 สับปะรดมีปริมาณการกลั่น 3.320 ลิตร ความเข้มข้น 55 %v/v อันดับที่ 2 คือกากน้ำตาลมีปริมาณการกลั่นอยู่ที่ 3.160 ลิตร ความเข้มข้น 51.6 %v/v และอันดับที่ 3 คือ ข้าวเหนียวมีปริมาณการกลั่นอยู่ที่ 2.920 ลิตร ความเข้มข้น 49 %v/v สามารถนำผลผลิตทางเกษตรนี้ไปต่อยอดเพื่อทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดต้นทุนในการผลิตได้ในอนาคตซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มในการพัฒนาเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนี้
พัชรี เกษรบุญนาค /ข่าว