กสถ. แจงข้อสงสัยกรณีข้อวิจารณ์ข้อสอบท้องถิ่นรั่ว มีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบ ย้ำทุกการจัดสอบมุ่งแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์หรือเรียกรับผลประโยชน์ ยึดระบบคุณธรรมและความเสมอภาค
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวผู้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสอบแข่งขัน เนื่องจากสงสัยว่ามีการรั่วไหลของข้อสอบ ทั้งยังพบบุคคลที่อ้างตัวสามารถฝากบรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้นั้น กสถ. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้ ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสอบแข่งขัน รวมถึงการเรียกรับผลประโยชน์ และเพื่อให้การสอบแข่งขันเกิดความเป็นธรรม และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในการจัดการสอบแข่งขัน กสถ. ได้ให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้จัดการสอบแข่งขันภายใต้การกำกับดูแลของ กสถ. ซึ่งหากการดำเนินการสอบแข่งขันมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการจ้าง หรือเกิดความเสียหายจากการบกพร่องในการจัดการสอบของมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกิดขึ้นด้วย โดยในการดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้ กสถ. ได้มีการกำหนดมาตรการให้มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบการจัดการสอบแข่งขัน ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น มีการกำหนดขอบเขตเนื้อหาวิชาเฉพาะเจาะจงที่จะใช้เพื่อการทดสอบให้ได้บุคคลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานใน อปท. ซึ่งหน่วยงานอื่นไม่มีการสอบในวิชาดังกล่าว หรือการออกข้อสอบ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการออกข้อสอบ ต้องเป็นคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะออกข้อสอบและไม่เป็นติวเตอร์ (ผู้สอนพิเศษ) หรือผู้จัดทำเอกสารหรือคู่มือเตรียมสอบที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการ โดยในแต่ละวิชาต้องให้คณาจารย์อย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ออกข้อสอบด้วยวิธีการเขียนด้วยลายมือของผู้ออกข้อสอบ เพื่อป้องกันการคัดลอก (copy) และต้องออกข้อสอบจำนวนอย่างน้อย 5 เท่าของจำนวนข้อที่ใช้ในสอบ ตลอดจนกำหนดให้มหาวิทยาลัย ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบประกอบด้วยคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะใช้เป็นข้อสอบและต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการวัดผลการศึกษา เป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือก กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย สถานที่ บุคคล อย่างรัดกุม เข้มงวด ซึ่งนอกจากกรรมการคัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับแล้ว ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อสอบโดยเด็ดขาด รวมทั้งกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องกำหนดมาตรการเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบ กรรมการคัดเลือกข้อสอบและเจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบจนกว่าการสอบแข่งขันจะเสร็จสิ้น นอกจากนั้น กสถ. ยังมีการมอบหมายให้คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริต และคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผล ได้ติดตาม ตรวจสอบ และแนะนำให้มหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน
รศ.อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการสอบแข่งขันนั้น ได้ใช้จากเงินค่าธรรมเนียมการสมัครสอบในอัตราคนละ 300 บาท ไม่มีการตั้งงบประมาณจากส่วนราชการสนับสนุนหรืออุดหนุน ซึ่งเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการสอบ ขั้นตอนการดำเนินการสอบภาค ก สอบภาค ข สอบภาค ค จนถึงขั้นตอนการบรรจุผู้สอบแข่งขันได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และการใช้จ่ายต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎหมาย ระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และใช้จ่ายได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการสอบแข่งขันเท่านั้น ในการสอบครั้งนี้ ได้มีหนังสือการเชิญชวนมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ายื่นข้อเสนอเพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการสอบแข่งขัน จำนวนถึง 63 มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐที่ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคครบถ้วน ถูกต้อง ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และมีข้อเสนอด้านราคาต่ำสุดที่ได้รับการจ้างให้จัดการสอบในครั้งนี้ เสนออัตราค่าจ้าง 230 บาทต่อผู้มีสิทธิเข้าสอบหนึ่งคน โดยการใช้จ่ายเงินดังกล่าว จะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ เช่นเดียวกับการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการอื่น เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น สำและเมื่อดำเนินการสอบแข่งขันเสร็จสิ้นงบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายในการสอบแข่งขันทั้งหมดจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยที่ผ่านมาได้มีการนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 สิบล้านบาท
ส่วนกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการเรียกรับเงินผู้สมัครสอบนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการสอบไม่ว่าจะเป็นการสอบของหน่วยงานใด ซึ่งในเรื่องนี้ กสถ. ได้มีประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบ การแอบอ้างหรือหลอกลวงผู้สมัครสอบ เพื่อไม่ให้ผู้สมัครสอบหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของผู้แอบอ้าง โดยเมื่อมีการแจ้งเบาะแสมา ได้มีการขอความร่วมมือจากตำรวจสันติบาลตรวจสอบข้อมูลที่มีผู้แจ้งเบาะแสทุกราย เช่น กรณีผู้ที่ใช้ชื่อว่า “รองโจ ” เรียกรับเงินผู้สมัครสอบเพื่อช่วยให้สอบแข่งขันได้นั้น ในเบื้องต้นทราบว่าเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ก็ได้ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด และตำรวจสันติบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยมีการประสานกับสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วยแล้ว
การดำเนินการสอบแข่งขันที่ผ่านมาจะเห็นว่า ไม่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตการสอบแข่งขัน แต่มีประเด็นที่ผู้เข้าสอบมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อสอบบางข้อที่มีข้อความเหมือนกับในหนังสือเตรียมตัวสอบของบางสถาบัน หรือข้อสอบบางข้อมีความผิดพลาดในการพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ กสถ. ได้มีการแจ้งให้มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบการจัดการสอบแข่งขันได้ตรวจสอบก่อนที่จะมีการตรวจให้คะแนน โดยมหาวิทยาลัยก็ได้มีการรายงานว่าได้มีการตรวจสอบและดำเนินการตรวจให้คะแนนตามหลักวิชาการในการให้คะแนนข้อสอบปรนัย ส่วนการขอดูคะแนนผลการสอบ กสถ. ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าสอบได้ทราบโดยทั่วกันว่า คะแนนสอบภาค ก และภาค ข ในขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ เนื่องจากกระบวนการสอบแข่งขันยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องมีการสอบใน ภาค ค ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 เพราะจะมีผลกระทบกับกระบวนการสอบแข่งขันในขั้นตอนการสอบดังกล่าว โดยเมื่อได้มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้แล้ว กสถ. จะได้มีการประกาศให้ผู้เข้าสอบแข่งขันสามารถขอทราบข้อมูลคะแนนผลการสอบของตนเองได้ โดยจะมีการอำนวยความสะดวกให้สามารถขอข้อมูลได้ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการสอบแข่งขันในครั้งนี้ ที่มีวัตถุประสงค์จะแก้ไขปัญหาการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือการเรียกรับผลประโยชน์จากการสอบแข่งขัน และปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ความเสมอภาคในโอกาส และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รศ.อัษฎางค์ กล่าว
ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2562