Breaking News

กรมสุขภาพจิต แนะคนในชุนชน ใช้แนวทางการสังเกตจาก 7 สัญญาณเตือน ในการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติด เพื่อลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคม

กรมสุขภาพจิต แนะคนในชุนชน ใช้แนวทางการสังเกตจาก 7 สัญญาณเตือน ในการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติด เพื่อลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคม และส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วันนี้ (26 มิถุนายน 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ยาเสพติดเป็นปัญหาหลักที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ปัญหาการใช้สารเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ติดสารเสพติดจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิต มีภาวะหวาดระแวง ได้แก่ อาการหลงผิด ประสาทหลอน ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายตนเอง ทำร้ายบุคคลใกล้ชิด ที่มักจะเห็นในข่าวปัจจุบันอยู่เป็นประจำ โดยสถานการณ์ผู้ใช้สารเสพติดของประเทศไทยพบ ผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน 1 ปี มีจำนวน 1.4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้สารเสพติด จำนวน 1.1 ล้านคน และเป็นผู้ติดสารเสพติด จำนวน 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบการบำบัดของ       กรมสุขภาพจิต จำนวน 24,196 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวชติดสารเสพติดรุนแรง จำนวน 5,757 คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) จำนวน 577 คน นอกจากนี้ ยังพบสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรงในสังคมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 3.92 เท่า ในปี 2561 โดยผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรง จำนวน 267 ราย แบ่งเป็นชายจำนวน 259 ราย และเป็นหญิงจำนวน 7 ราย สำหรับลักษณะของการก่อความรุนแรงในสังคม พบมีการทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่นมากที่สุด จำนวน 90 คน รองลงมาเป็นการทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย จำนวน 58 คน ลักทรัพย์ จำนวน 47 คน และทำลายข้าวของ จำนวน 44 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงในข่าวเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เคยเข้ารับการบำบัด จำนวน 104 คน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และใช้แนวทางการสังเกตจาก 7 สัญญาณเตือนผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดก่อความรุนแรง มีดังนี้ 1. ขีดข่วนหรือกรีดตัวเองเป็นรอยแผล 2. ส่งเสียงดังหรือตะโกนด่าด้วยคำหยาบคายรุนแรง 3. ข่มขู่จะทำร้ายผู้อื่น 4. ทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ 5. พกพาหรือสะสมอาวุธโดยไม่สมเหตุสมผล 6. รื้อ ขว้างปาข้าวของกระจัดกระจาย และ 7. ทำลายสิ่งของจนแตกหัก รวมถึงการสังเกตเฝ้าระวังพฤติกรรมและอาการที่เข้าข่ายเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา ได้แก่ หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวงไร้เหตุผล อยากฆ่าตัวตาย ทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น พูดจาก้าวร้าว พูดจาเพ้อเจ้อ หลงผิด และแต่งกายแปลกกว่าคนปกติ โดยสามารถส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ ยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งเหตุฉุกเฉิน โทร. 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำตัวเข้ารักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมต่อไป เป็นการช่วยลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคม ตามแนวทางการส่งต่อผู้ป่วย ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551

นอกจากนี้ คนในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชได้ ดังนี้ 1. ช่วยกันดูแล ติดตามให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง 2. ร่วมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยจากการถูกเอาเปรียบจากสังคม 3. เฝ้าระวังสังเกตอาการ หากผิดปกติหรือมีอาการกำเริบให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ 4. ส่งเสริมอาชีพ หางานอดิเรกให้ทำ เพื่อฝึกสมาธิและให้ผู้ป่วยมีรายได้ และ 5. ให้กำลังใจผู้ป่วยและสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว      

นงนุช  ดลชัยกรร์สกุล                                         

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น