อธิบดี สถ. พบปะชาวเทศบาล มุ่งขับเคลื่อนภารกิจของเทศบาล เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไทย
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 เวลา 10.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บรรยายพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อนภารกิจของเทศบาล เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไทย” ในการประชุมและสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย ให้แก่นายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล ปลัดเทศบาล และบุคลากรของเทศบาล ที่เข้าร่วมสัมมนา กว่า 3,000 คน
โดยมี นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายมานพ ปัทมาลัย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
นายสุทธิพงษ์ได้ย้ำถึงความสำคัญของ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 มีผลสู่การปฏิบัติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
เพื่อไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญใน 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะเทศบาล ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาพื้นที่ เป็นบุคคลสำคัญที่เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลสู่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินโครงการต่างๆ ควรน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และนโยบายของรัฐบาล มาปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่
เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ได้เป็นเทศบาลของประชาชนมากยิ่งขึ้น พี่น้องประชาชนก็จะได้เห็นความสำคัญของเทศบาลอย่างแท้จริง ก็ขอให้ผู้บริหารของเทศบาลทุกท่าน ได้ส่งเสริมการการเสริมสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรด้วย เพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นตัวของปลัดเอง หรือผู้อำนวยการ รมทั้งบุคลากร และขอให้ทุกท่าน ช่วยกันสานต่อ ร่วมมือดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ทั้งจากรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย หรือจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะทุกเรื่อง ทุกนโยบาย ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดีของการพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ทั้งนั้น เช่น ด้านการพัฒนาการจัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานในท้องถิ่นของเรา ที่ทางกรมฯ ได้ส่งเสริมให้ อปท. มี “สนามเด็กเล่น สร้างปัญญา” ที่ถือเป็นพื้นที่สำคัญของชุมชนในการยกระดับและพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยได้มีพัฒนาการที่ดี เสริมสร้างสมาธิ สร้างความสามัคคี ปลูกฝังความเป็นจิตอาสา รู้จักการแบ่งปัน อดทน และให้อภัย เพราะเมื่อเด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ สมองจะได้รับการพัฒนาใน 6 มิติ สามารถคิดนอกกรอบสรรพวิชา ทั้งวิทย์ คณิต ภาษา ศิลปะ สังคม มาสร้างสรรค์ เชื่อมโยงดัดแปลงจนได้ความคิดสุดใหม่ที่เรียกว่า “ปัญญา” ให้เด็กๆ ได้มีความสุขผ่านการเล่น หรือการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ที่ได้กำชับไปว่า ให้ผู้กำกับดูแลและผู้บริหารท้องถิ่น หมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันของสถานศึกษาในสังกัดให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจหรือผู้กำกับดูแลและผู้บริหารท้องถิ่นลงพื้นที่สุ่มตรวจด้วยตนเองเป็นระยะ และให้พิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch : TSL) มาใช้ในสถานศึกษา ให้เด็กได้รับโภชนาการที่ดี ครบถ้วนต่อการเจริญเติบโต
ทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการคืนคลองสวยทั่วไทยสุขใจเที่ยวท้องถิ่น หรือเรื่องของการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ที่เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้บริหารท้องถิ่นทุกท่าน ที่ช่วยผลักดัน ขับเคลื่อนให้ปัญหานี้คลี่คลายลงไปได้พอสมควรเลยทีเดียว โดยในหลายพื้นที่ได้มีวิธีการ หรือนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างดี เช่น การจัดตั้งธนาคารขยะ การส่งเสริมรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนให้เป็นมนุษย์ 3Rs การจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ซึ่งต้นแบบก็มาจากชุมชนบ้านป่าบุก เทศบาลตำบลแม่แรง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน หรือการบริหารจัดการศูนย์พึ่งพิงสุนัขจรจัด ที่เทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี เป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลประชาชนเช่นกัน เพราะสุนัข อาจจะนำโรคต่างๆ มาสู่คน และสร้างความทุกข์ร้อนใจให้แก่ประชาชนได้ หากเรามีการดูแลที่ดีก็จะช่วยลดภาระทางสังคม ลดการรบกวนของสุนัขจรจัดที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ได้ ที่กรมฯ เอง อยากให้มีศูนย์พึ่งพิงสุนัขจรจัดจังหวัดละ 1 ศูนย์
นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวถึงการน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาต่อยอดให้เกิดผล โดยได้กล่าวว่า นายก อปท. ทั้งหลายเป็นเสมือนผู้นำ เป็นผู้ที่สามารถปลุกฟื้นให้เหมือนสังคมไทยสมัยก่อนที่ผู้คนล้วนมีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อสังคม สร้างจิตสำนึกด้านจิตสาธารณะหรือจิตอาสาให้แก่ประชาชนในพื้นที่เเละร่วมกันดำเนินกิจกรรมจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นพฤติกรรมจิตสาธารณะหรือจิตอาสาอย่างแท้จริงและมีพื้นฐานการอยู่ร่วมกันกับสังคมอย่างเป็นสุข โดยช่วยกันสานต่อความเป็นจิตอาสา และขยายผลพระราโชบายต่างๆ นำคนท้องถิ่นให้ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมด้วยความจงรักภักดี นำนโยบายจิตอาสาสู่การปฏิบัติร่วมกันอย่างแท้จริง โดยไม่หวังผลตอบแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใด พร้อมมุ่งสร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อประชาชนสังคมส่วนรวมและประเทศชาติต่อไป เช่น การลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ร่วมกันรณรงค์เรื่องการบริหารจัดการขยะ หรือการร่วมมือกันพัฒนาวัดตามโครงการ วัด – ประชา – รัฐ – สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส ให้ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการทำชุมชนให้เข้มแข็ง มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างยั่งยืน การบำเพ็ญประโยชน์ปรับปรุงภูมิทัศน์ กำจัดวัชพืช และสิ่งปฏิกูลในแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
และยังต้องมีการน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้วย เช่น การสานต่อโครงการ โคก-หนอง-นา โมเดล ที่เป็นการจัดการเลือกวิธีการซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการดังกล่าว และจะได้ขยายผลการดำเนินการไปยังท้องถิ่นต่างๆ โดยใช้ท้องถิ่นที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการต่อไป นายสุทธิพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2562