สถ. ลุยต่อ จ.เลย ติดตามการขับเคลื่อนโครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ตั้งเป้าครบ 100% ใน เม.ย.นี้ เพื่อเฉลิมฉลองและแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธวัชชัย เลี้ยงประเสริฐ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายปิติภณ โพธิ์ใต้ ผู้ตรวจราชการกรม ลงพื้นที่จังหวัดเลย ตรวจติดตามโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก จากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตอำเภอเอราวัณ อำเภอวังสะพุง อำเภอผาขาว อำเภอภูกระดึง อำเภอภูหลวง และอำเภอหนองหิน พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน
โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายจรัสพงศ์ คำดอกรับ ท้องถิ่นจังหวัดเลย นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอวังสะพุง นายราชประชา ลิตลคร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผาสามยอด นายคงเดช วรรณชัย นายกเทศมนตรีตำบลเอราวัณ นายประจวบ มะปะเข นายกเทศมนตรีตำบลผาอินทร์แปลง นายสุรเดช ศรีมาตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรัพย์ไพวัลย์ นางอธิชา อินพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าปล้อง นายทศ บงแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขมิ้น นายอุทัย หอมอ่อน นายกเทศมนตรีตำบลโนนปอแดง นายสงวน วงกองแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเพิ่ม
นายทองอร ชารินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนป่าซาง ร.ต.ต.เสวียง สาลิภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองคัน นายชัยชนะ ธนะศรีมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลภูหอ นายสัมพันธ์ คูณทวีลาภผล นายกเทศมนตรีเมืองเลย นายจรูญ พานิช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำสวย นายก้าน กุลณะวงค์ นายกเทศมนตรีตำบลนาอ้อ นายราเชนท์ กงสิมมา นายกเทศมนตรีตำบลเชียงกลม หัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำชุมชน/หมู่บ้านในพื่นที่เข้าร่วม ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลผาสามยอด จ.เลย จากนั้นลงพื้นที่ตรวจติดตามวิธีการจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะเปียกในระดับครัวเรือนของบ้านห้วยป่าน ตำบลผาสามยอด อำเภอเอราวัณ จ.เลย
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า จังหวัดเลย เป็นจังหวัดที่ 2 จากทั้งหมด 5 จังหวัดในกลุ่มตัวอย่าง ที่กรมฯ ขอให้มีการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการดำเนินการใน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ประเภทครัวเรือน ประเภทศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และประเภทโรงเรียน ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของ สถ. ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก
ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็อาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนได้ ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวันนี้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ก็ได้ลงพื้นที่มาในวันนี้ด้วยเช่นกัน
ทางด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะเครือข่ายจิตอาสา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีหรือพลังแม่บ้านในการเป็นจิตอาสา เสริมสร้างจิตสำนึกของการคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน โดยใช้กลไกของแม่บ้านที่เป็นผู้ใกล้ชิดคนในครอบครัวที่สุด โดยกระตุ้นให้มีการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ช่วยสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้คนในท้องถิ่นของตนเองได้มามีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ ซึ่งแม่บ้านเองจะยังได้สารบำรุงดินจากการทำถังเปียกครัวเรือน ที่จะช่วยลดรายจ่ายในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ของครอบครัวและชุมชนได้ด้วย ทั้งยังมีส่วนในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นอีกทางนั่นเอง
ในตอนท้าย นายสุทธิพงษ์ และ ดร.วันดี ได้กล่าวชื่นชมผู้บริหารของจังหวัดเลย และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ช่วยทำให้ฝันเป็นจริง โดยดำเนินการการจัดการขยะเปียกครัวเรือนนำร่อง เพื่อคำนวนหาค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหาร ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก จำนวน 600 ครัวเรือนได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งในจังหวัดเลยนี้ มีการส่งเสริมให้ครัวเรือนของพี่น้องประชาชนจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนไปแล้วได้ถึง 84% ของครัวเรือนทั้งหมด จึงถือว่าน่าชื่นชมมาก และอาจจะมีผลงานโดดเด่นเป็น top 5 ของประเทศ
เพราะนี่คือสัญญาณของจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้เกิดความตระหนักในเรื่องของการจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก ซึ่งความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากเพียงแค่การมีผู้นำที่ดีเท่านั้น แต่มาจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ จังหวัดเลยยังได้มีการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการขยะเพื่อจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ด้วย นั่นคือ กองทุนขยะ หรือธนาคารขยะ และยังมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเก็บขยะในพื้นที่สาธารณะ ถนนสายหลัก / สายรอง ทั้งยังมีการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์ โดยการนำไปเลี้ยงไส้เดือน เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
ก็ต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารทุกท่าน ที่จะช่วยผลักดันการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนนี้ให้ครบทุกครัวเรือนในพื้นที่ ซึ่ง กรมฯ เอง ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในเดือนเมษายน 2562 นี้ ทุกครัวเรือนทั่วประเทศจะต้องมีถังขยะเปียกครัวเรือนครบ 100% เพราะปีนี้ถือว่าเป็นปีมหามงคลของชาวไทย ซึ่งจะมีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมกันทำความดีในรูปแบบของการปฏิบัติบูชา
เพื่อเฉลิมฉลองและแสดงความจงรักภักดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระนี้ และก็ขอให้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาบ้านเมืองของเราให้น่าอยู่ขึ้น โดยให้คิดเสมอว่า ความสำเร็จนั้นอยู่ที่จิตสำนึกของพวกเราทุกคน มาร่วมกัน Change For Good เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า เปลี่ยนให้เพื่อประเทศไทยที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม ให้ทุกคนได้มาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อนในแบบที่ทำตามได้ในชีวิตประจำวัน ให้ได้เป็นส่วนสำคัญในการทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าจากขยะอีกต่อไปนั่นเอง