นครปฐม ศรัทธาสาธุชน ร่วมทอดถวายผ้ากฐินสามัคคี วัดไผ่ล้อมยอดเงิน2,515,555 บาท
เมื่อเวลา15.00น. วันที่ 27 ตุลาคม 2562 ที่ วัดไผ่ล้อม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
ดร.อัญชลิน ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา บริษัท ที คิว เอ็ม อินชัวร์รันส์ โปรคเกอร์ เป็นประธานในพิธีถวายผ้ากฐินสามัคคี ณ วัดไผ่ล้อม พร้อมด้วย นายไพรัช สังวริบุตร ประธานบริษัท ดาราวิดีโอ, สามเศียร, ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น และ จ๊ะ ทิง จา ทีวี นายสมชาติ สาลีพัฒนา (เฮียเงี๊ยบ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาสาย4)คณะศิษยานุศิษย์วัดไผ่ล้อม และศรัทธาสาธุชน ร่วมทอดถวายผ้ากฐินสามัคคี แด่ พระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดไผ่ล้อม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งคณะสงฆ์มีฉันทามติ ให้ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์( หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ซึ่งเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์และครองผ้าไตรกฐิน และประธานในพิธี ร่วม ถวายจตุปัจจัย ไทยธรรม และศรัทธาสาธุชน ร่วมถวายกองกฐินสมทบ โดยยอดถวายปัจจัยกฐินสามัคคีวัดไผ่ล้อมประจำปี2562 จำนวน 2,515,555 บาท เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และบูรณะปฎิสังขร วัดไผ่ล้อม ต่อไป
การจองกฐิน : เจ้าภาพผู้ปรารถนาจะจองกฐินวัดใดวัดหนึ่งนมัสการกราบเรียนเจ้าอาวาสว่า ตนมีศรัทธาจะทอดกฐินวัดนี้ เมื่อท่านอนุญาตแล้ว เขียนหนังสือประกาศไว้ให้รู้ทั่วกัน กฐิน กับวิหารทานอื่นๆ ต้องแจ้งประกาศแยกกันต่างหาก กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย
อานิสงส์ของการทอดกฐิน
อานิสงส์กฐินนี้ หลวงปู่ปาน แห่งวัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเคยเทศน์ และ ก็เทศน์ตามบาลี ฉะนั้น การทำบุญ จะเป็นเงินก็ตาม จะเป็นของก็ตาม ถือว่า ทุกอย่างเป็น อานิสงส์กฐิน พระสูตรตามที่ท่านกล่าวไว้ในบาลี พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บุคคลใดตั้งใจทอดกฐินแล้วในชีวิตหนึ่ง ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพกฐินก็ดี หรือ เป็นบริวารกฐินก็ดี (แต่ถ้าเป็นกฐินสามัคคี หมายความว่า ทุกคนจะเป็นเจ้าภาพเหมือนกันหมด) จะทำบุญน้อย จะทำบุญมาก มีอานิสงส์เสมอกัน แต่ทว่าปริมาณอาจจะแตกต่างกัน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “โภ ปุริสะ ดูกรท่านผู้เจริญ บุคคลใดเคยตั้งใจทอดกฐินไว้ในพระพุทธศาสนา แม้ครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าตายจากความเป็นคน ยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ท่านผู้นั้นจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา หรือนางฟ้า ถ้าหมดอายุขัยของเทวดา หรือนางฟ้า เมื่อจุติ (ตาย) แล้ว เมื่อบุญหย่อนลงมา จะเกิดเป็นเทวดาเกิดเป็นนางฟ้าไม่ได้ ก็จะลงมาเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว บุญหย่อนลงมา ก็จะเป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้น จะเป็นมหาเศรษฐี
การตั้งใจทอดกฐินครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นอกจากจะเป็นเทวดาเป็นนางฟ้า เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีแล้ว บุคคลที่ตั้งใจทอดกฐินครั้งหนึ่งในชีวิต จะปรารถนาพระโพธิญานก็ย่อมได้ นั่นหมายความว่า จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นมหาสาวกก็ได้ จะปรารถนานิพพาน เป็นพระอรหันต์ปกติก็ได้ ฉะนั้น การทอดกฐินแต่ละคราว ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบถึงอานิสงส์ และ มีความตั้งใจในการทอดกฐิน คนที่เคยตั้งใจทอดกฐินแล้วแต่ละครั้ง รวมความว่า ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด คำว่า ยากจนเข็ญใจจะไม่มีแก่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทในชาติต่อๆไปทุกชาติ
โดยสรุป อานิสงส์จากการทำบุญทอดกฐิน ถ้าจะมาเกิดเป็นมนุษย์
1. จะได้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฐิ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียงที่ดีงาม
2. จะเกิดมาโดยมีร่างกายที่ได้คุณลักษณะที่งดงามสมส่วน
3. จะเกิดมามีผิวพรรณงดงาม จิตใจแจ่มใส ร่าเริงเบิกบาน
4. จะเกิดมามีทรัพย์สมบัติมาก ไม่ลำบากในการแสวงหาทรัพย์
5. เมื่อละโลกแล้ว อย่างน้อยได้ไปบังเกิดในสวรรค์