ด้วยอำนาจแห่งความกตัญญู

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครปฐม  เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน อาตมาขออำนวยพรแก่ญาติโยมทุกท่านเนื่องในเทศกาลตรุษจีนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เหล่าเทพ เหล่าเซียนทั้งหลาย บันดาลให้ญาติโยมทุกท่านประสบแต่ความเฮง เฮง เฮง มั่งมีศรีสุข โชคลาภไหลมาเทมาไม่ขาดสาย มั่งคั่งร่ำรวยต้อนรับปีมะเส็ง เทอญ

วันตรุษจีนนี้เป็นเทศกาลที่สะท้อนค่านิยมที่สำคัญมากของชาวจีน นั่นคือ ความกตัญญู ก่อนจะเริ่มการเฉลิมฉลองใด ๆ ก็จะต้องเซ่นไหว้บรรพชน ก็คือการไหว้ในวันไหว้นั่นเอง ต้องกระทำก่อนการเซ่นไหว้ใด ๆ ด้วยคนจีนนั้นถือความกตัญญูเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะแก่บุพการีหรือผู้มีพระคุณของตนอันเป็นผู้มีพระคุณอยู่ก่อน หากปราศจากความกตัญญูแล้ว บุคคลคนนั้นแม้จะเลิศลักษณ์อัครฐานเพียงใดก็นับว่าเป็นโมฆบุรุษ ความกตัญญูคือเครื่องหมายวัดระดับคุณค่าของคนโดยแท้ คนจะนับถือหรือไม่นั้นขึ้นกับสิ่งนี้

ครั้งหนึ่งในสมัยสามก๊ก ลกเจ๊ก อายุ 6 ขวบ เดินทางติดตามอาไปคำนับท่านอ้วนสุดที่จวน ลกเจ๊กได้กินส้มที่จวนของอ้วนสุดก็นึกถึงแม่ของตน ส้มนี้มันอร่อยดีแท้ อยากให้แม่ได้กิน แม่ของลกเจ๊กชอบกินส้ม จึงลักเอาส้มที่จัดไว้เลี้ยงใส่แขนเสื้อของตน แต่พอจะคำนับลากลับบ้าน ส้มที่ซ่อนไว้ก็หลุดร่วงจากแขนเสื้อ ความเลยแตกว่าลกเจ๊กขโมยส้มอ้วนสุด

อ้วนสุดถามว่า “ตัวเจ้าเป็นแขกเยาว์วัย ไฉนจึงแอบลักส้มของข้า”

ลกเจ๊กก้มลงคำนับแล้วกล่าวว่า “มารดาของข้าเจ้าชอบกินส้มยิ่งนัก จึงตั้งใจจะเอาไปฝาก เมื่อมารดากินส้มนี้ก็นับว่า ท่านได้เลี้ยงแขกเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง” อ้วนสุดได้ยินดังนั้นก็นิยมชมชอบขึ้นมาว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ทั้งออกปากชมว่า ฉลาดมีไหวพริบ ต่อไปภายหน้าจะได้เป็นขุนนางมีชื่อเสียง

ความกตัญญูคือสิ่งที่ค้ำจุนความสัมพันธ์ระหว่างบุพการีและลูก ครูและศิษย์ เจ้านายและผู้ใต้บังคับบัญชา แม่ทัพกับทหาร จักรพรรดิกับขุนนาง ผู้เป็นใหญ่ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้น้อยคอยเลี้ยงดูชุบชูอุปถัมภ์ให้กินอิ่มนอนหลับ พ่อแม่ยอมลำบากตรากตรำเพื่อลูกหลานของตน ครูพากเพียรสอนวิชาแก่ศิษย์ เจ้านายยอมลำบากปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้น้อยย่อมควรแสดงความกตัญญูตอบแทน เป็นความสัมพันธ์แก่กันเสมือนว่าได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน เมื่อถือดังนี้แล้วสังคมย่อมสงบสุขด้วยทุกคนรู้จักบทบาทและหน้าที่ของตน ต่อพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน ครู ศิษย์ ผู้บังคับบัญชาลูกน้อง บ้านเมือง และราษฎร

แม้ผู้มีพระคุณวายชนม์ไปแล้ว ชาวจีนก็ไม่ได้ถือว่าความกตัญญูสิ้นสุดลงแต่เพียงนั้น แม้ผู้วายชนม์จะไปสู่สัมปรายภพอันใด ความกตัญญูยังคงอยู่ ลูกหลานจัดหาฮวงซุ้ยที่ดี มีเครื่องเซ่นไหว้เป็นประจำตามวาระ ตั้งแต่ตรุษจีน เช็งเม้ง สารทจีน เมื่อลูกหลานมารวมกันแสดงความกตัญญู แม้จะเบื้องหน้าหลุมศพหรือรูปภาพที่ปราศจากชีวิต แต่สิ่งที่บรรพชนให้กลับมาก็คือความสามัคคีในหมู่คณะ ด้วยความกตัญญูนี้แตกต่อยอดออกไปเป็นคุณธรรมอย่างอื่นได้อีกมาก โดยเฉพาะความสามัคคี ญาติพี่น้องจะแยกย้ายออกไปยังต่างถิ่นฐานเพียงใด แต่เมื่อถึงวาระอันสำคัญนี้ก็ต้องกลับมารวมญาติให้พร้อมหน้าพร้อมตา รวมกำลังกันจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้บรรพชน ทำกิจกรรมร่วมกัน

นี่แหละคุณค่า ด้วยอำนาจแห่งความกตัญญู

ในพระพุทธศาสนาของเราก็อธิบายไว้ว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ถ้าใครถามว่าคนดีคืออะไร นิยามอย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดแจ้งที่สุดก็คือความกตัญญูกตเวที รู้คุณท่านและกระทำการตอบแทนคุณท่านซึ่งได้กระทำแก่เรามาก่อน ท่านเหล่านั้นได้ชื่อว่า บุพการี คือผู้กระทำก่อน เมื่อรู้เห็นการกระทำนั้นแล้ว ถือเอาเป็นพระคุณแก่ตน ก็นับได้ว่ากตัญญู และการตอบแทนพระคุณท่าน คือ กตเวที

กตัญญูทำให้ใจคนอ่อนโยนมิหยาบกระด้าง เพราะสิ่งที่ตรงข้ามกับกตัญญูก็คือเนรคุณ การเนรคุณ มิรู้จักกตัญญู เป็นภาพสะท้อนจิตที่หยาบกระด้าง จะงอกงามในธรรมประการอื่นนั้นก็เป็นไปได้ยากนัก

อาตมาจึงขอฝากเรื่องความกตัญญูนี้ไว้เป็นข้อคิดติดใจไว้เสมอ ขอเจริญพร