สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ บริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด จัดกิจกรรม “นครปฐมร่วมใจ ช่วยลดขยะ” ครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และประชาชน เข้าใจและเข้าถึงกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น. ที่บริเวณอาคารอเนกประสงค์ กองร้อยบังคับการและบริการ กองบังคับการ กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดนครปฐม ศาลากลางจังหวัดนครปฐม
นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดโครงการ “นครปฐมร่วมใจ ช่วยลดขยะ” ครั้งที่ 2 โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ บริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดนครปฐม จัดขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และประชาชน เข้าใจและเข้าถึงกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วม ให้เกิดการคัดแยกขยะมากขึ้น นอกจากนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงทราบแนวทางในการนำขยะที่คัดแยกไปกำจัดให้ถูกต้อง ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดนครปฐม ได้รับการกำจัดที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น
นายปราโมทย์ อรกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID – 19) ได้คลี่คลายลง ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น และวิถีการดำเนินชีวิตบางส่วนยังคงมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ขยะมูลฝอยประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยังคงมีปริมาณสูง และพบว่าจังหวัดนครปฐม มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นจำนวน 1,333 ตันต่อวัน มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เท่ากับ 1.45 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ได้รับการกำจัดโดยวิธีการที่ถูกต้อง 734 ตันต่อวัน นำกลับไปใช้ประโยชน์ 217 ตันต่อวัน และกำจัดไม่ถูกต้อง 382 ตันต่อวัน ปัจจุบันมีแนวทางในการจัดการขยะมูลฝอยที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากขึ้น ขาดเพียงความรู้ความเข้าใจและช่องทางในการนำไปจัดการให้ถูกต้อง
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การรับบริจาคขยะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และประชาชน ได้แก่ ขยะกำพร้า นำไปเป็นเชื้อเพลิง RDFs สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งพลาสติกยืด ส่งโครงการวน สำหรับรีไซเคิลพลาสติก ตลอดจนน้ำทำอาหารใช้แล้ว นำไปผลิตไบโอดีเซล เป็นเชื้อเพลิงอากาศยาน และสิ่งของเหลือใช้ ส่งโครงการเหลือขอ ของบ้านนกขมิ้น เป็นทุนการศึกษาให้เด็กกำพร้า นอกจากนี้ได้มีการมอบตะแกรงคัดแยกขยะรีไซเคิล ให้กับ 7 โรงเรียน ใน 7 อำเภอของจังหวัดนครปฐม ที่มีการดำเนินกิจกรรมการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะจากสถานศึกษา อีกด้วย