โรงพยาบาลสามพราน ซ้อมแผนอุบัติเหตุหมู่ งานอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช
เมื่อวันที่31กรกฏาคม 2567
นายแพทย์ทินกร ชื่นชม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามพราน เป็นประธานเปิดโครงการซ้อมแผนอุบัติเหตุหมู่ งานอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช โรงพยาบาลสามพราน จังหวัดนครปฐม ปีงบประมาณ 2567 พร้อมด้วย นางพัชรี เกษรบุญนาค รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามพราน (ฝ่ายบริหาร) นางเสริมศรี กิฬาลาช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามพราน(ฝ่ายการพยาบาล)นางสาววาสนา คำเซ่ง หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม นางสาวตถารักษ์ ไม้สน หัวหน้างานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ร่วมด้วย ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลสามพราน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สามพราน และ อาสามูลนิธิพรานพิทักษ์ ร่วมโครงการในครั้งนี้
ซึ่งปัญหาความรุนแรงทุกวันนี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางสังคมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความรุนแรงในเยาวชนที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพในอนาคต และปัญหาความรุนแรงของผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ปัญหาความรุนแรงที่เห็นได้ชัดและกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นคือ การก่อเหตุทะเลาะวิวาทของเยาวชนและผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ โดยรูปแบบของการก่อเหตุทะเลาะวิวาทนั้นได้มีการพัฒนาความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้อาวุธที่รุนแรง เช่น อาวุธปืนหรืออาวุธมีด การดัดแปลงอุปกรณ์การเรียนมาใช้เป็นอาวุธ การก่อเหตุทะเลาะวิวาทที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนมากเหตุการณ์การทะเลาะวิวาทในแต่ละครั้งมักจะมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และรูปแบบการทะเลาะวิวาทนั้นมักจะเกิดขึ้นในที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถประจำทาง บนรถประจำทาง เวทีคอนเสิร์ต ตลาด หน้าโรงเรียน ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บไปด้วย
ดังนั้นงานอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวชโรงพยาบาลสามพราน ตระหนักในความสำคัญในการให้บริการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาล สหสาขาวิชาชีพ อุปกรณ์ และสถานที่ ในการให้บริการ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหมู่ หรือ สาธารณภัยขึ้น สามารถลดอัตราการสูญเสีย อัตราตาย และความพิการของผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นงานอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช ได้จัดให้มีการซ้อมแผนรับอุบัติเหตุหมู่ขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการปฏิบัติงาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุหมู่หรือสาธารณภัยที่รุนแรงเกิดขึ้น และ สามารถประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ลดอัตราการสูญเสีย ทั้งชีวิต สูญสียอวัยวะ ความพิการ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ในภายหลัง รวมถึงการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็นอีกด้วย