นครปฐม มจร.จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่6 “เปลี่ยนพลังผู้สูงวัยเป็นกลไกขับเคลื่อน Soft Power อย่างยั่งยืน”
ในวันที่19พฤษภาคม 2567 ที่ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
พระธรรมวชิรานุวัตร , ดร. เจ้าคณะภาค14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประธานกรรมการบริหารกลางโครงการ หมู่บ้านรักษาศีล5 ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่6 “เปลี่ยนพลังผู้สูงวัยเป็นกลไกขับเคลื่อน Soft Power อย่างยั่งยืน” ร่วมด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
โดยมี พระมหาบุญเลิศ อินทปญโญ, ศาสตราจารย์ ดร. รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี ฝ่ายบริหาร ในนามประธานดำเนินงาน กล่าวรายงาน ในนามภาคีเครือข่าย คณะทำงาน และผู้ร่วมงานทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตผลงานวิชาการที่นำไปสู่การพัฒนาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย การพัฒนาทักษะสู่การเป็นผู้ทรงคุณค่าในสังคม นำหลักพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายอันประกอบด้วย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนามนุษย์และสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่6ในหัวข้อ”เปลี่ยนพลังผู้สูงวัยเป็นกลไกขับเคลื่อน Soft Power อย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เผยแพร่ผลงานวิชาการ ของนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา สู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงบูรณาการด้วยองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนา
ร่วมกันแสดงพลังเป็นภาคีเครือข่ายทั้งสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา ต่อยอด ให้ผู้สูงอายุในสังคมได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทย ผู้สูงวัยนั้น ถือว่าเป็นผู้มากประสบการณ์ชีวิต เป็นผู้ทรงวิทยาคุณ ทรงคุณูปการของบุตรหลาน ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ สั่งสมภูมิปัญญาความรู้ ที่ผ่านการทดลองใช้ปรับปรุงแก้ไขจนประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่ดี จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะได้ร่วมมือกัน ในการส่งเสริม พัฒนา ต่อยอด ซอฟต์พาวเวอร์ผู้สูงวัยให้เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยที่ยั่งยืนต่อไป