นนทบุรี คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาของ PAT
ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ อ.เมือง จ.นนทบุรี
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง,อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….,ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศึกษา ไปเยี่ยมชมและศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์,ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์และสถานศึกษาในความร่วมมือ โดยนายวิเชียร เนียมน้อม ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ,นางอรวรรณไชยมาตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์HR Operation 1 บริษัทซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน), ดร.ฉัชร์ภิมุก อภินันท์โชติสกุล ผู้อำนวยการบริหารความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจ , นายอำนาจ อ้วนเจริญ ผู้อำนวยการสำนักกิจการนักเรียน นักศึกษา,นายวรเชษฐ์ ธรรมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ,นายศุภเลิศ บุญเย็น ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล,นายเคน นพรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้การต้อนรับและบรรยายภารกิจการจัดการศึกษา
โอกาสนึ้ นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมและศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาครั้งนี้เพื่อรับทราบข้อมูลนำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งทุกฝ่ายประสงค์ที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอาชีพ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ หาก การร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆก็จะเสียเวลาในการร่างกฎหมาย จากการได้ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากหน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ได้ข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ ครั้งนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาได้มารับฟัง การจัดการศึกษาขององค์กรภาคเอกชน ที่มีทั้งธุรกิจและการศึกษา เป็นอีกมิติหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ภาคองค์กรทางธุรกิจ ใช้หลักการบริหารเชิงกลยุทธ์ ออกแบบระบบการศึกษา ให้มีการเรียนรู้และฝึกทักษะให้ตอบสนอง ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งถ้ามองย้อนไปภาพของการจัดการศึกษาอาชีพ ในการจัดการศึกษารูปแบบปกติ ก็ยังยึดหลักการเช่นเดิมคือจัดตามหลักสูตร ครูคือผู้สอน การฝึกอาชีพก็เป็นชุดทดลองที่ตามไม่ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง การมาลงพื้นที่เยี่ยมชม วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ในครั้งนี้ทำให้เกิดมุมมองการศึกษาอาชีพเป็นไปในทิศทางที่ดี และต้องยอมรับว่าภาคชนจัดได้ดีมีคุณภาพ ด้านนายวิเชียร เนียมน้อม ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์กล่าวว่า วิทยาลัยฯ ผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพ ที่ยึดหลักการจัดการศึกษา Work Based Learning คือการเรียนรู้และฝึกปฎิบัติจากงานจริง จำนวนผู้เรียนจะกำหนดโดยภาคธุรกิจ ทั้งจำนวนและคุณภาพ เรียกว่า made on demand ดังนั้นกระบวนการจัดการศึกษาทุกขั้นตอน จะมีการวางแผน กำหนด การทำงานร่วมกันทุกขั้นตอน การวัดประเมินผลและ คุณภาพผู้เรียน สถานประกอบการ หรือภาคธุรกิจ จะเป็นผู้สะท้อนให้กับวิทยาลัยฯได้ทำการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือเมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษา สถานประกอบการต้องประกันตำแหน่งงานให้กับผู้สำเร็การศึกษาทุกคน ทางด้าน ดร.ฉัชร์ภิมุก อภินันท์โชติสกุล ผู้อำนวยการบริหารความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจ ได้กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน วิทยาลัยฯ มีแผนในพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอาชีพให้สอดคล้องกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ เรียกว่า Educational Chef คือ การปรุงแต่งเนื้อการหาการเรียนและการฝึกให้สอดคล้องกับบริบทของงานในแต่ละส่วนของธุรกิจและสถานประกอบการ ทั้งนี้จะต้องหาข้อมูลประกอบจากฝ่ายธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำคู่มือการฝึกอาชีพ ทำให้สถานประกอบการเกิดความมั่นใจในคุณภาพของผลผลิตทางการศึกษา และเป็นการสร้างหลักประกัน ด้านกำลังคนในระยาว ที่คุ้มค่า
และ ดร.พิเซษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา ได้แสดงความคิดเห็นว่า เราเห็นความสำเร็จการศึกษาอาชีพ ในประเทศเยอรมัน อังกฤษ สหรัฐฯ ญีปุ่นและ สิงค์โปร์ วันนี้ในประเทศไทย มีวิทยาลัยเทคโนโลยีภิวัฒน์และ ซีพี ออลล์ ก็ทำได้ดี หากมองการศึกษาอาชีพในส่วนอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ยังจัดการศึกษาแบบเดิมกันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ความต้องการเด็กอาชีวะของภาคธุรกิจก็มีมาก แต่หน่วยผลิตยังจัดได้ต่ำกว่ามาตรฐานทั้งคุณภาพและปริมาณ ในตอนท้าย นายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการศึกษาได้กล่าวเสนอแนะนำให้ อาชีวศึกษาเอกชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ระบบการศึกษาอาชีพ ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร การระดมทรัพยากรและแหล่งเรียนรู้ การสนับสนุนทุนการศึกษา และสร้างโอกาสให้กับ นักเรียน นักศึกษา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีมั่นคง และยั่งยืนได้ต่อไป.