หลวงพี่น้ำฝน แสดงกตัญญู เปลี่ยนผ้าครอง เปลี่ยนชีวิต ถวายหลวงพ่อพูล
เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน บัดนี้ก็เข้าใกล้เวลาเข้าพรรษา ไตรมาสสามเดือน ซึ่งเป็นวาระสำคัญสำหรับพระสงฆ์ทุกรูป ก็อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่า เข้าพรรษาสามเดือน เป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์จะต้องอยู่จำพรรษาประจำ ณ อารามใดอารามหนึ่งเป็นเวลาสามเดือน เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้มิให้พระสงฆ์เที่ยวจาริกไปจนพืชผลการเกษตรชาวบ้านเสียหาย ด้วยเวลานั้นเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และสมัยก่อนก็ยังไม่มีถนนหนทางเหมือนเดี๋ยวนี้ พระสงฆ์จะจาริกไปที่ใดก็ต้องเดินตัดทุ่งนาชาวบ้าน ทำให้ข้าวในนาถูกเหยียบย่ำเสียหาย และถึงไม่ได้เดินเหยียบย่ำทุ่งนาใคร การเดินทางในหน้าฝนก็เป็นอะไรที่ลำบากอยู่แล้ว สมัยก่อนไม่มีถนนคอนกรีตราดยางอะไร ก็ต้องเดินเท้าเปล่าย่ำดินที่จะกลายสภาพเป็นโคลน จมหายไปครึ่งเท้า ดึงขึ้นมาก็กลายเป็นรองเท้าโคลนหุ้มเท้าราวกับตัวบิ๊กฟุตอีก ถ้าใครเคยย่ำทุ่งหน้าฝนก็คงจะเข้าใจดี พระพุทธองค์ทรงเห็นแก่ประโยชน์ทั้งแก่ชาวบ้านผู้เพาะปลูก และแก่พระสงฆ์ผู้เผยแผ่ธรรม จึงทรงมีพุทธบัญญัติเช่นนี้ออกมา ผลที่ได้นั้น พระสงฆ์ได้อยู่ประจำอาราม ได้พบปะ สมานสามัคคีกับพระสงฆ์ร่วมอาราม ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ศึกษาธรรมร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่พึงได้จากการจำพรรษา
เหตุนี้เองทำให้เกิดประเพณีสำคัญของเราชาวพุทธ คือ ประเพณีถวายเทียนพรรษา เพราะแต่ก่อนไม่มีไฟฟ้า เราก็มักทำเทียนเล่มใหญ่สำหรับใช้ได้ทั้งพรรษา คือ สามเดือน นำไปถวายสงฆ์ เพื่อสงฆ์จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป บางภูมิภาคก็จัดเป็นงานใหญ่ มีขบวนแห่ เทียนก็แกะสลักเสลาอย่างงดงาม เป็นงานศิลปะแห่งศรัทธาที่ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ได้เห็น ถึงสมัยนี้จะมีไฟฟ้าแล้ว แต่การถวายเทียนพรรษาก็ยังเป็นที่นิยมปฏิบัติสืบมา สมัยนี้ผู้ผลิตหลอดไฟเขาก็ทำหลอดไฟสำหรับถวายพระด้วยนะ แถมมีคำถวายเป็นคำบาลีด้วย เรียกว่า วิชชุทีปะ ประทีปไฟฟ้า นั่นเอง
อีกประเพณีหนึ่งคือ การถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าวัสสิกสาฎก ประวัติของประเพณีนี้ออกจะจั๊กจี้เสียเล็กน้อย เพราะมีเหตุว่านางวิสาขา สาวสวย รวย ใจบุญ ได้โสดาบัน ใช้ให้สาวใช้นำภัตตาหารไปถวายพระที่พระเชตวัน ครั้งนั้นพระสงฆ์ยึดถือพระวินัยว่า พระสงฆ์จะถือครองผ้าได้แค่สามผืน คือ สบง จีวร สังฆาฏิ และในอินเดียนั้น น้ำท่าก็ไม่ได้มากอะไร พอฝนตกก็เป็นโอกาสดี พระสงฆ์แก้ผ้าอาบน้ำฝนเลย โทง ๆ กลางฝนนี่แหละ เพราะไม่มีผ้าอย่างอื่นใช้ สาวใช้ที่นางวิสาขาส่งมา เห็นสภาพอย่างนั้น แทบกรี๊ด จะตากุ้งยิงไหมล่ะนั่น ก็ถามว่าพุทธบุตรหายไปไหนหมด มีแต่อาชีวกเปลือยกาย จึงนำความไปแจ้งนางวิสาขา นางวิสาขาได้ทราบก็เข้าใจเหตุทั้งหมด เมื่อได้โอกาสจึงทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงอนุญาตการถวายผ้าอาบน้ำฝน พระองค์ก็ประทานพระอนุญาต จึงเกิดเป็นประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน แม้ปัจจุบันจะมีห้องน้ำมิดชิด พระสงฆ์ไม่ได้อาบน้ำกันกลางแจ้งแล้ว แต่เราก็มีประเพณีนี้สืบมา
นอกจากนี้ ช่วงเข้าพรรษาก็ยังเป็นช่วงเวลาที่ชายไทยมักใช้เป็นโอกาสบวชเรียน เมืองไทยเรานั้น มีประเพณีบวชเรียน เพราะสมัยโบราณ ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมอยู่ในวัด การบวชเรียนก็จะได้เรียนรู้ทั้งวิชาทางโลก และทางธรรม และสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีเจตนาจะอุทิศชีวิตบวชเป็นบรรพชิตตลอดชีพ เพราะต้องดำรงเพศคฤหัสถ์ทำมาหากิน การลาบวชเพียงสามเดือนตลอดพรรษาก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งวิชาความรู้ พระธรรมวินัย และประสบการณ์ชีวิตนอกเหนือไปจากการงานอาชีพของตน และยิ่งไปกว่านั้นก็คือได้เป็นญาติกับพระศาสนา เพราะผู้บวชถือเป็นพุทธบุตร อยู่ในสมณวงศ์ ย่อมชักนำให้ญาติพี่น้องของตนเข้ามาใกล้พระศาสนายิ่งขึ้นด้วย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เข้าพรรษาเป็นบ่อเกิดแห่งประเพณีสำคัญต่าง ๆ ของชาวพุทธเรา เพราะเข้าพรรษาเองก็ต่อเนื่องจากอาสาฬหบูชา วันที่ระลึกแห่งการหมุนกงล้อพระธรรมจักร วันประกาศพระธรรมให้เผยแผ่ไป การได้ทำบุญในห้วงเวลาดังกล่าวจึงนับเป็นเวลาเปลี่ยนชีวิตของใครหลาย ๆ คนให้เจริญขึ้น สำหรับวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม นอกจากการทำวัตรสวดมนต์ตามปกติในวันพระใหญ่ วันอาสาฬหบูชา วันที่ 1 สิงหาคม 2566 แล้ว ในเวลา 13.09 น. จะทำพิธีเปลี่ยนผ้าครองสรีระสังขาร พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข พระอมตเถราจารย์แห่งเมืองนครปฐม ที่สรีระสังขารของท่านยังคงประดิษฐานอยู่ภายในวิหารทองคำ เป็นที่เคารพสักการะของสาธุชนทั้งหลายมาโดยตลอด นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2548 วันที่ท่านละสังขาร และต่อมาได้พบว่าสรีระของท่านไม่เน่าเปื่อยแปรสภาพผิดกับร่างอื่นโดยปกติ มาจนบัดนี้ สรีระท่านก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างอัศจรรย์ มีผิวพรรณสีทองปรากฏให้เห็น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา อาตมาได้สักการะบูชาสรีระสังขารของพระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วยดี มีการเชิญลงมาเปลี่ยนผ้าครอง ทำความสะอาดสรีระสังขาร เสมือนหนึ่งว่าได้สรงน้ำชำระร่างกายท่านอย่างถูกต้องตามหลักวิชา ถือเอาการกระทำเป็นเครื่องบูชาพระคุณท่านเสมือนหนึ่งว่าพระเดชพระคุณท่านยังมีชีวิตอยู่
ในปีนี้เป็นวาระพิเศษ 111 ปีชาตกาลพระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล 11พฤศจิกายน 2455 –11 พฤศจิกายน 2566 ในการเปลี่ยนผ้าครองสรีระสังขารพระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล ก็จะมีของที่ระลึก เป็นชิ้นส่วนจีวรของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล เพื่อให้ศิษยานุศิษย์เก็บไว้บูชาเป็นสิริมงคล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจด้วย การได้ร่วมบุญเปลี่ยนผ้าครองถวายหลวงพ่อพูลนั้น ถือเป็นการบูชาผู้มีพระคุณประการหนึ่ง จึงมีอานิสงส์มาก อาจเปลี่ยนชีวิตของคนให้ไปในทางที่ดีได้ เจริญขึ้นได้ อาตมาจึงขอเจริญพรประชาสัมพันธ์พิธีดังกล่าวนี้แก่สาธุชนทั้งหลายผู้มีจิตศรัทธา โดยสามารถมาร่วมงานได้ที่วิหารหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม ในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 เวลา 13.09 น. ขอเจริญพร