ขอขมากรรม ลด ละ เลิก สิ่งไม่ดี ในปีที่ผ่านมา
พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครปฐม กล่าวเจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคม ก็นับว่าเป็นช่วงสิ้นปีพอดี เป็นเดือนที่อากาศดีกว่าเดือนใด ๆ แม้เดือนธันวาคมปีนี้ เราทุกคนจะเสียว ๆ กับ “โอไมครอน” โควิดสายพันธุ์ใหม่จากแดนแอฟริกา ที่หมอว่าติดง่ายยิ่งกว่าเดลตา แต่ข่าวดีก็คือ อาการไม่รุนแรงเท่าเดลตา และในประเทศไทยเราก็เร่งฉีดวัคซีนกันขนานใหญ่ จนตอนนี้เมืองไทยนั้นมีวัคซีนสารพัดยี่ห้อ แทบทุกชนิด อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้ไม่ได้กันติด เพราะมันต้องติดก่อน วัคซีนจึงทำงาน แต่วัคซีนนี้กันตาย อาการรุนแรงจะน้อยลง ซึ่งในระยะยาวนั้นมันก็จะทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนโรคไข้หวัดทั่วไปไปในที่สุด อันนี้คือความเป็นไปได้ในทางวิชาการ แต่กว่าจะถึงวันนั้น เราก็คงต้องอดทนฝ่าฟันกันต่ออีก เพราะโรคมันก็ขยันกลายพันธุ์จริง ๆ
แต่อย่างน้อย การได้วัคซีนก็เสมือนว่าเราติดเชื้อ เมื่อติดแล้วก็มีภูมิคุ้มกัน เมื่อเชื้อมาอีก อาการรุนแรงก็จะลดลงไป ก่อนที่โลกจะตัดขาดจากกันเพราะโรคระบาด อาตมาไปประเทศอินเดีย ไปพุทธคยาอยู่เรื่อย ๆ พอโควิดมาระบาดหนักในอินเดียอาตมาก็ใจหาย เพราะข่าวออกว่าผู้คนล้มตายมากเหลือเกิน ล้มตายขนาดว่าไม่มีที่ให้ฝัง ให้เผา ถึงฝังน้ำก็เซาะหลุม แต่พอตอนนี้คนเป็นกันมาก พอหายก็เหมือนได้วัคซีนตามธรรมชาติ ตอนนี้อินเดียมีผู้ติดเชื้อน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรอันมหาศาล สวนทางกับยุโรปที่ทะยานเอา ๆ อาตมาเลยคิดว่า นี่แหละ วัคซีนสำคัญตรงนี้ ต้องทำให้เกิดการ “ติดเชื้อทิพย์” ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ว่าวันหนึ่งจะเกิดภูมิคุ้มกันทั้งประเทศ แล้วเราก็จะกลับไปใช้ชีวิตที่สบายกว่านี้ ไม่อยากเรียกว่าปกติ เพราะมันไม่ปกติอีกต่อไปแล้ว โควิดนี่มันเปลี่ยนชีวิตเราไปมาก จนเกิดความปกติใหม่
กลับมาที่เรื่องสิ้นปี ช่วงสิ้นปีนี้ฝรั่งเขาถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเพื่อให้อภัย และลืมเรื่องบาดหมางที่ผ่านมา เราจะเริ่มต้นกันใหม่ในปีใหม่ คนฝรั่งเวลาปีใหม่เขาไม่ได้ร้องเพลงสวัสดีปีใหม่แล้วนะ เขาร้องเพลงสามัคคีชุมนุม เอ๊ะ สามัคคีชุมนุมมีในเมืองฝรั่งด้วยหรือ คำตอบคือ ใช่ ต้นฉบับของสามัคคีชุมนุมคือ Auld Lang Syne เป็นเพลงที่แปลแล้วมีเนื้อหาถึงการระลึกความหลัง การมีน้ำใจไมตรีต่อกัน ต่อมาคนไทยนำมาแปลงเป็นสามัคคีชุมนุม ร้องกันในทุกค่ายลูกเสือถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นแล้ว เนื่องในวาระสิ้นปี เราก็ควรจะระลึกนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดปี และมองไปข้างหน้าว่าเราจะทำอะไรต่อไป
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องกรรม คือ การกระทำ ว่าเป็นเหตุของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความโชคดี โชคร้าย สุข ทุกข์ วาสนา อับโชค ล้วนมาจากกรรมของตนที่เคยทำมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอดีตชาติ หรือในชาติปัจจุบันที่เห็นผลทันตา หลักธรรมเรื่องกรรมมีมาคู่อารยธรรมอินเดียนมนาน แต่ศาสนาพุทธเน้นย้ำเสมอว่า กรรมเกิดได้ด้วยการกระทำของตน และตนจะต้องได้รับผลกรรม เราเป็นทายาทของกรรมโดยแท้ เมื่อเราทำกรรมไม่ดีไว้ ก็ย่อมได้รับผลไม่ดีด้วย ดังธรรมบทที่ว่า
“หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
กรรมนั้นให้ผลต่างกันไป นักปราชญ์จำแนกได้มากมายหลายชนิด แบ่งด้วยเกณฑ์หลายเกณฑ์ แต่กฎแห่งกรรมนั้นซับซ้อนยิ่งนัก เกินกว่าที่จะหยั่งรู้ด้วยความคิดสติปัญญา หรือ อจินไตย อำนาจกรรมทำให้เป็นไปตามผลแห่งกรรมนั้น ๆ หากบุคคลมีกรรมร่วมกันมาก็ต้องมาประสบพบพานกัน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ต้องมาเผชิญวิบากกรรมร่วมกัน สุขด้วยกัน ซวยด้วยกัน ก็อย่างโควิดระบาด เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย จะว่าไปก็คงเป็นกรรมร่วมกันอย่างหนึ่งของผู้คน ที่ต้องมาประสบกับสถานการณ์อะไรที่เหมือนกัน แต่เราจะพบว่าแม้เป็นวิบากกรรมอย่างเดียวกัน แต่ว่าผลที่ปรากฏแก่แต่ละคนนั้นต่างกัน อันนี้ก็ขึ้นกับกรรมอื่น ๆ ที่เข้ามาประกอบ และที่สำคัญที่สุดคือกรรมที่ทำเอง
กรรมที่ให้ผลแก่เราในเวลานี้ มีทั้งกรรมที่ทำในชาตินี้ หรือทำในชาติก่อน ๆ มา ซึ่งเราย่อมจำไม่ได้แน่ และไม่อยู่ในวิสัยที่จะนึกคิดเอาได้ ทว่าเจ้ากรรมนายเวรเขาไม่หายไป เขายังคงตามมาได้ เพราะจิตนั่นมันเกิดดับเป็นกระแสธารนานมานับอเนกชาติ พาเราเวียนว่ายตายเกิดเป็นอะไรต่อมิอะไรไม่รู้กี่อย่าง และผลกรรมจะสิ้นไปก็เมื่อเราได้รับผลกรรมนั้น หรืออีกทางหนึ่งคือการอโหสิกรรม ให้เจ้ากรรมนายเวรไม่จองเวรจองกรรมอะไรอีก
แต่กรรมยิ่งกว่ากรรมก็คือ ทำกรรมไม่ดีแล้วไม่สำนึก ไม่รู้ตัวว่านี่คือกรรมไม่ดี เพราะนั่นหมายความว่าเราก็ไม่รู้ว่าเรากำลังเพิ่มปริมาณเจ้ากรรมนายเวรตามมาอีกเป็นขบวน เจ้ากรรมนายเวรเขาจองคิวนาน คิวยาวถึงชาติหน้าเลยก็มี ชาตินี้ก็เยอะ สุดท้ายชีวิตอับจนตกต่ำ หาทางออกไม่เจอ มัวเมาในมิจฉาทิฐิเพิ่มขึ้นอีก ทำกรรมไม่ดีเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่รู้สึกเนื้อไม่รู้สึกตัวว่านี่เป็นกรรมไม่ดีของตน คนแบบนี้เรียกว่ากรรมหนาเป็นดินพอกหางหมู
ทางที่ดีที่สุดคือการรู้สำนึกตน ใคร่ครวญว่าที่ผ่านมาเราทำไม่ดีไว้กับใครบ้าง หรือระลึกถึงเจ้ากรรมนายเวรที่ตามติดเรามานับอเนกชาติ ขอขมากรรมนั้นเสีย
การขอขมากรรมไม่ใช่การแก้กรรม แต่เป็นการตั้งสติระลึกถึงการกระทำของตนเองที่ผ่านมา ว่ามีสิ่งใดบ้างที่เป็นสิ่งไม่ดี ผิดครรลองคลองธรรม และขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวรนั้นเสีย เพื่อที่ต่อไปจะได้ไม่กระทำอีก เพราะกรรมไม่ดีนั้นมันมักพอกพูนทำให้เราไหลไปยังทางอบายได้อย่างรวดเร็ว ตั้งสติระลึกนึกถึงสิ่งนั้น ยอมรับในความผิดของตนเองที่ผ่านมา ปีหนึ่งควรได้กระทำสักครั้ง เป็นการชำระจิตใจ ปลดปล่อยความขัดข้องในใจที่อาจมี บางคนมีกรรมไม่ดีใหญ่หลวงแต่ไม่อาจให้โลกรู้ได้ ก็ขอให้ใช้โอกาสนี้กับตนเองกับเจ้ากรรมนายเวรของตน เราจะรู้ว่านี่คือสิ่งที่เราจะต้องไม่ทำอีก เป็นสิ่งที่ผิด และเราจะเริ่มต้นใหม่ด้วยสิ่งที่ดีกว่า ถือเป็นการตั้งสติใหม่ นำทางไปสู่ความดีงามในชีวิตข้างหน้า
ในวันสิ้นปี วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2564 วัดไผ่ล้อมจัดสวดมนต์ข้ามปี ขอขมากรรม ฉลองความสุข “เคาท์ดาวน์ รับพรปีใหม่” ร่ำรวย โชคดี มีเงินทอง เหลือกินเหลือใช้ ณ วัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม เริ่มเวลา 19.09 น. ประกอบพิธีขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง ลด ละสิ่งไม่ดีทั้งปวง ใช้โอกาสสิ้นปี สะสางความเศร้าหมองในใจ เริ่มต้นปีใหม่ด้วยสัตยาธิษฐานว่าเราจะกระทำกรรมดี ลด ละ เลิก สิ่งไม่ดีทั้งปวง ผู้เข้าร่วมพิธีไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และจะได้ปฏิทินเป็นของที่ระลึกอีกด้วย จึงขอเจริญพรประชาสัมพันธ์มาในตอนท้ายความนี้ ขอเจริญพร