Breaking News

บันทึกบุญกฐิน 2564 บำรุงพระพุทธศาสนาและสาธารณูปการ

บันทึกบุญกฐิน 2564

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครปฐม กล่าว เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน ในส่วนแรกนี้ อาตมาขอประกาศอนุโมทนาบุญเนื่องในบุญกฐินที่ผ่านมาของทางวัดไผ่ล้อม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา โดยกฐินสามัคคีประจำปีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายอนุชา สะสมทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์จากทั่วทุกสารทิศที่มีจิตศรัทธามาร่วมบุญกฐิน โดยได้นำผ้ากฐินมาถวายตามพุทธบัญญัติ พร้อมด้วยบริวารกฐินเป็นเครื่องไทยธรรม และปัจจัยจากแรงศรัทธาสาธุชนจำนวนทั้งสิ้น 3,140,959 บาท เงินจำนวนนี้จะนำไปใช้เป็นประโยชน์ในกิจการของวัด กิจการพุทธศาสนา และสาธารณูปการต่อไป

เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องของเราทุกคน ป่าไม้ก็ดี สัตว์ป่าก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทรัพยากรที่มีค่า ควรรักษาไว้ เพราะจะมีผลแก่เราทุกคน ป่าไม้คือต้นกำเนิดชีวิต ป่าไม้คือที่กำเนิดของน้ำที่เราใช้ดื่มกิน ป่าที่สมบูรณ์ย่อมมีสัตว์อาศัยอยู่ ตั้งแต่ไส้เดือนตัวน้อยไปจนถึงเสือ หมี นกหายาก เหล่านี้ล้วนอาศัยป่าเป็นแหล่งชีวิต ป่าก็ต้องพึ่งพาสัตว์เพื่อให้ป่ายังคงอยู่ เป็นวงจรชีวิตในผืนป่า เมื่อป่าสมบูรณ์ เราก็อยู่เย็นเป็นสุข และยังเป็นแหล่งนันทนาการให้แก่พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา หรือทะเลก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการรักษาโดยพวกเรา ซึ่งเรามีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้มีหน้าที่หลักในการดูแลรักษาธรรมชาติ เราอาจจะเห็นข่าวดับไฟป่าบ้าง ข่าวจับผู้ร้ายยิงสัตว์ ตัดไม้บ้าง บุคคลที่ทำหน้าที่เหล่านี้คือตัวแทนพวกเราในการรักษาธรรมชาติ จึงเป็นบุญอย่างหนึ่งที่พวกเขาทั้งหลายได้กระทำไว้กับแผ่นดิน เราจึงควรอนุโมทนาแก่พวกเขาเหล่านี้ด้วย และเป็นกำลังใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

นอกจากนี้ ในงานกฐินครั้งนี้ยังมีคณะศิษยานุศิษย์อีกหลายรายมาเปิดโรงทาน จัดเลี้ยงผู้ร่วมงานเป็นอาหาร และเครื่องดื่มหลากหลายชนิด นอกจากบุญกฐินครั้งนี้จะอิ่มทั้งบุญแล้ว ยังอิ่มท้องอีกด้วย เป็นบรรยากาศของความสามัคคี สมกับคำว่ากฐินสามัคคี เพราะเป็นความร่วมแรงร่วมใจกันโดยแท้ ทั้งศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้ไกล หน่วยงานราชการ ทุกภาคส่วน ด้วยอานิสงส์ของบุญนี้ ขอบารมีคุณพระศรีรัตนตรัย ญาณบารมีหลวงพ่อพูล เป็นเสาหลักนำชัยอวยพรให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งอันน่าอภิรมย์ เจริญด้วยลาภ สุข สรรเสริญทุกประการ

ในการนี้ยังได้แจกเหรียญพระสังกัจจายน์มหาลาภพญาเต่ามังกรเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมบุญในกองกฐินนี้ พระสังกัจจายน์นี้ คือ พระมหากัจจายนะ หนึ่งในพระอสีติมหาสาวก พระสาวกผู้ใหญ่แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้นี้เป็นเอตทัคคะ หรือผู้เลิศด้านการอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อธิบายเรื่องยาก ขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้น อันที่จริงแล้วท่านเป็นผู้อยู่ในตระกูลดี เป็นเชื้อพราหมณ์ ผิวพรรณก็ดีเปล่งปลั่งดังทอง ท่านได้มาบวชในสำนักของพระบรมศาสดา และด้วยความที่ท่านเป็นพระรูปงาม ใครเห็นก็หลงใหล ตามไปดูจนรบกวนพระรูปอื่น ๆ ไปหมด ผู้หญิงก็กรี๊ด ผู้ชายก็หลง สุดท้ายแล้วพระมหากัจจายนะก็เห็นว่าขืนเป็นแบบนี้ ใครเห็นก็คงจะคิดเป็นอกุศลไปเสียหมด จึงขอพระพุทธานุญาตแปลงกายมิให้หล่อเหมือนเดิม ให้เป็นพระพุงพลุ้ยมิใช่พระหุ่นดีน่ามอง พระองค์ก็ประทานพระอนุญาต พระมหากัจจายนะกลายเป็นพระพุงโต ถึงกับต้องเอามือประคองไว้เสมอ มองอย่างไรก็ดูไม่ดี แต่ถึงกระนั้นหน้าตาท่านก็ยังมีเมตตาอยู่เสมอ ผู้คนจึงยังนิยมมาทำบุญกับท่าน อารมณ์ว่าเป็นพระใจดี ไม่เคยขาดการสักการะควบคู่ไปกับพระสีวลี ผู้ที่ใคร่จะขอพรเรื่องโชคลาภ ก็มักจะมาขอพรกับพระสีวลี กับพระสังกัจจายน์นั่นเอง

คนจีนนับถือพระสังกัจจายน์ในฐานะปู้ไต้หลอฮั่น ก็แปลว่าท้องยุ้งพุงกระสอบ คนจีนถือเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์ ท้องอันใหญ่โตของท่านคือที่ใส่อาหารและขนมให้แก่ผู้ยากไร้ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเมตตาด้วย

เหรียญพระสังกัจจายน์นี้ พระสังกัจจายน์นั่งบนพญาเต่ามังกร เต่าคือความอายุยืน แข็งแรง อดทน เหมือนมีเกราะป้องกันภัย ส่วนมังกรนั้นคืออำนาจวาสนาอันยิ่งใหญ่ เมื่อเต่า และมังกรมารวมกัน จึงเป็นพลังมหามงคล สุดยอดของความเฮงก็คือเต่ามังกร เมื่อมีพระสังกัจจายน์อยู่ด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นสิริมงคลไปด้วย

อันนี้ก็เป็นความหมายของเหรียญพระสังกัจจายน์มหาลาภพญาเต่ามังกรที่อาตมาได้มอบในงานกฐินครั้งนี้

ความสามัคคีนี้เป็นพลังแห่งความสำเร็จ พุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี” แปลว่า “ความพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข” บุญกฐินนี้จะประสบความสำเร็จเป็นงานทอดกฐินไม่ได้ถ้าปราศจากความพร้อมเพรียงกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดเตรียมงาน ในส่วนของวัดก็ดี คณะเจ้าภาพศิษยานุศิษย์ก็ดี ที่โรงทานก็ดี ตลอดจนเจ้าของแรงศรัทธาทุกบาททุกสตางค์ก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นพลังอันพร้อมเพรียงที่นำไปสู่ความสุข ความสามัคคีทำให้ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจได้ผลประโยชน์อันพึงได้ทั้งสิ้น พระภิกษุในวัดได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย ทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมได้บุญใหญ่กลับบ้านไป อิ่มอกอิ่มใจกันทุกคน นั่นคือความสุขที่เราได้จากความสามัคคี พุทธภาษิตบทนี้ยังมีข้อความต่อไปอีกว่า “การสนับสนุนคนผู้พร้อมเพรียงกันเป็นสุข ผู้ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเกษม” บุญกฐินครั้งนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าเราทุกคนมีความพร้อมเพรียงกันสนับสนุนกันและกัน ตั้งอยู่ในธรรม มีจิตเป็นกุศลประสงค์จะสืบพระพุทธศาสนา ฉะนี้แล้วเราทุกคนก็ย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเกษม คือความสุขกายสุขใจ ความอิ่มบุญอันเป็นธรรมเกษมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงขอให้เราทุกคนยึดมั่นในความพร้อมเพรียง หรือความสามัคคีนี้ ให้พร้อมเพรียงกันทำกิจการต่าง ๆ และพร้อมเพรียงกันประพฤติธรรม สนับสนุนความพร้อมเพรียงกันนี้ เพื่อให้บรรลุซึ่งธรรมอันเกษม ขอเจริญพร