อธิบดีพช.ติดตามให้กำลังใจ ต้นแบบความสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” เพื่อพลิกฟื้นความยั่งยืนสู่ชุมชน
วันที่ 4 กันยายน 2564
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวรรณา ลิ่มพาณิชย์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนเชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจ ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน แปลงโคก หนอง นา ของนางระพิน เพ็ญสุวรรณ พื้นที่ 3 ไร่ บ้านสำพะเนียง หมู่ที่ 5 ตำบลสำพะเนียง อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายสุนทร แววมะบุตร ผู้นำต้นแบบและประธานเครือข่ายโคก หนอง นา โดยมี นายสุระบัณฑิต กันยานะ นายอำเภอบ้านแพรก นายสมจิตร แย้มเยื้อน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแพรก นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) เครือข่ายโคก หนอง นา อำเภอบ้านแพรก ให้การต้อนรับ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระองค์ได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสุข ความหวัง ความรัก ความสามัคคี ที่เกิดขึ้นในครอบครัว หากน้อมนำเอาหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านกระบวนการจิตอาสาเอามื้อสามัคคี สร้างความเข้มแข็งให้กับครัวเรือน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เช่นเดียวกับ โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งรัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว จึงได้ขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา พช. โดยการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตรตามหลักภูมิสังคม โดยการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ กับภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติพื้นที่นั้นๆ อย่างสมดุล โคก หนอง นา พช. จึงเป็นรูปแบบที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเอง โดยมีมนุษย์เป็นตัวกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จเร็วขึ้น ภายใต้ธรรมชาติอันสมบูรณ์อย่างเป็นระบบ ด้วยการเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” เป็นการสร้างความมั่นคง ในแหล่งทำกินด้านการเกษตร เลี้ยงสัตว์ สู้กับปัญหาภัยแล้ง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ให้กลับฟื้นมาอีกครั้ง โดยปรับปรุงพื้นที่รองรับฝนธรรมชาติ และการเชื่อมโยงวงจรชีวิต พืช และสัตว์ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
นายสุนทร แววมะบุตร ผู้นำต้นแบบและประธานเครือข่ายโคก หนอง นา อำเภอบ้านแพรก กล่าวว่า การเข้ารับการฝึกอบรมจากหลักสูตรผู้นำต้นแบบของ ศพช. นครนายก ทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจในทักษะด้าน ต่างๆ ทั้งงานครูพาทำ/ครูสอนออกแบบ/พิธีกร/จนถึงงานชุมชนเกิดความสัมพันธ์ และขับเคลื่อนเครือข่าย “ โคก หนอง นา บ้านแพรก อยุธยา” ผมเชื่อว่า สิ่งที่โครงการของกรมการพัฒนาชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สร้างโอกาสให้มีความยั่งยืนได้
จึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับพี่น้องในชุมชนที่บ้านแพรก ทำการเกษตรอินทรีย์ และใช้ความรู้ที่ไปฝึกอบรม ตามหลักปรัชาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาตนเอง และพัฒนาชุมชน อย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมให้ชุมชน ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกป่า 5 ระดับโดยการพัฒนาออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน เช่นเดียวกับแปลงของ นางระพิน เพ็ญสุวรรณ ซึ่งได้งบประมาณปี 2564 ของโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา พช. ซึ่งแปลงนี้ได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่รูปแบบ โคก หนอง นา พช. อำเภอบ้านแพรก จำนวน 3 ไร่ ได้มีการดำนาเอามื้อสามัคคีในวันแม่ และจะเก็บเกี่ยวกันในวันพ่อ อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายชุมชนให้มีส่วนร่วมขยายผล ด้วยการร่วมแรงร่วมใจเอามื้อสามัคคี ทุกๆ วันเสาร์ ทำให้เกิดเครือข่ายในชุมชน จำนวน 30 ราย โดยมีการแบ่งปันไก่และเป็ดให้แต่ละครัวเรือนที่สนใจ ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการปลูกต้นไม้ อาทิ ต้นกล้วย ต้นมะม่วง ฯลฯ และพืชผักสวนครัว อาทิ พริก ตะไคร้ ผักชี มะนาว ต้นชะพลู ซึ่งมีสรรพคุณและประโยชน์อย่างมากมาย รวมถึง การเลี้ยงปลาตะเพียนในบ่อนํ้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำไปต่อยอดในการส่งเสริมความรู้และอาชีพ ให้แก่คนในชุมชนได้อีกด้วย จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร นั่นคือ “เมี่ยงคำ” ซึ่งมาจากผลผลิตในแปลงที่เพาะปลูก และสูตรนี้ยังได้บรรจุลงในรายการ 108 อาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการช่วยเสริมทักษะอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พช..” จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน ต่อไป อธิบดีกล่าวช่วงท้าย
#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
#กรมการพัฒนาชุมชน