Breaking News

ชาวใต้ส่งประกวด “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” กว่า 200 ผืน ยกระดับความร่วมสมัย ก้าวไกลสู่ระดับสากล

ประชาชนภาคใต้ ปลื้มปีติ ส่งประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” กว่า 200 ผืน ยกระดับความร่วมสมัย ก้าวไกลสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ระดับภาค ร่วมด้วย นายไกรสร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผศ.ดร.วิชิต สุขทร รองอธิการบดีรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ทีมคณะกรรมการ นำโดย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารของนิตยสารโว้ก ประเทศไทย นางสาวรติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ และคณะ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทย เพื่อฟื้นฟูมรดกงานศิลป์ล้ำค่าของแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทยไม่ว่าจะในชนบทและเมือง ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ ตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้พี่น้องทั้งหลาย กล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่มีต่อผ้าไทยแบบดั่งเดิม ในวันนี้คุณูปการที่เกิดขึ้นจึงไม่เพียงแต่วงการทอผ้าเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการสร้างคุณค่าในงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ประเภทอื่นๆ อีกด้วย ด้วยพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา หนุนให้พี่น้องช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ยังคงสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเลี้ยงดูครอบครัว แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ฝ่าฟันไปได้อย่างมั่นคง จึงนำมาซึ่งความซาบซึ้งจนมีคำกล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานว่า “เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หยาดลงในทะเลทราย” และด้วยพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ที่ทรงเสด็จไปยังหัวเมืองทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ถึง 2 รอบ พระองค์ได้มีพระกรุณาแนะแนวทางการพัฒนา ยกระดับ ให้กลุ่มหัตถกรรมทั้งหลายได้เพิ่มความประณีต ใส่ฝีมือ ใส่ลูกเล่นลงไป ผลงานที่ปรากฏในวันนี้จำนวน 203 ผืนในส่วนของภาคใต้ และ 3,215 ผืนจากทั่วประเทศ จึงเป็นดั่งดอกผล ของความมหัศจรรย์ที่พระองค์ได้ทรงพระราชทาน

การประกวดผ้าลายพระราชทาน“ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ระดับภาค ในวันนี้เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่กรมการพัฒนาชุมชน ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทุกภาคีเครือข่าย ได้มีโอกาสน้อมนำเอาแนวพระราชดำริในวิถีของการการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับ และคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องกลุ่มทอผ้าทั้งหลาย ได้พัฒนาฝีมือ ค้นหาเทคนิควิธีการในการผลิตผ้าไทยให้ดีขึ้น เหมาะสมแก่การตัดเย็บเสื้อผ้าสมัยใหม่ เหนือล้ำไปกว่าการมุ่งหวังผลแพ้ชนะ คือการการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพไทย ที่ทรงริเริ่มนำหัตถกรรมพื้นถิ่น เสน่ห์ของงานฝีมือดั้งเดิม และวิถีชีวิตให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านอย่างมั่นคง สำหรับการประกวดในวันนี้ เป็นการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ระดับภาคใต้ โดยในพื้นที่ภาคใต้มีจังหวัดที่เข้าร่วม 14 จังหวัด เพื่อคัดเลือกผ้าพื้นถิ่น จาก 4 ภูมิภาค เหลือเพียง 75 ผืน เข้าตัดสินในระดับประเทศ ซึ่งสำหรับการประกวดผ้าของจุดดำเนินการภาคใต้ จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีจำนวนผ้าที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 203 ผืน แยกเป็น 10 ประเภท ส่วนใหญ่เป็นผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม จำนวน 105 ผืน รองลงมา คือ ผ้ายกดอก 21 ผืน, ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ 20 ผืน, ผ้าพิมพ์ลาย 16 ผืน, ผ้าปักมือ 16 ผืน, ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ 11 ผืน, ผ้ายกเล็ก 8 ผืน, ผ้าเทคนิคผสม 4 ผืน, ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป 1 ผืน และผ้าจกทั้งผืน 1 ผืน ตามลำดับ


ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชน จะมีการดำเนินการประกวดโดยเริ่มจากระดับภาค ไปสู่ระดับประเทศ โดยจุดแรกในพื้นที่ภาคกลาง ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564, จุดที่ 2 ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2564 จังหวัดนครศรีธรรมราช, จุดที่ 3 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่ และจุดที่ 4 จุดสุดท้าย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2564 จังหวัดอุดรธานี ต่อด้วยการประกวดในรอบ Semi Final รอบตัดสิน 75 ผืนสุดท้าย ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร และประกาศผลรอบตัดสิน 75 ผืนสุดท้าย ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สำหรับการประกวดในระดับประเทศ รอบตัดสินรางวัล ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2564 ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระราชินูปถัมน์ ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการตัดสิน นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นขวัญและกำลังใจอย่างยิ่งกับพี่น้องวงการผ้าไทย ปลุกกระแสวงการผ้าไหม ให้เกิดการสืบสาน รักษาและต่อยอดภูมิปัญญาให้ดำรงเอกลักษณ์ไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์งดงาม”