Breaking News

พช.นครพนม จับมือภาครัฐ ภาคเอกชนโดย Thorr และมหาวิทยาลัยนครพนม ยกระดับการพัฒนา OTOP

พช.นครพนม จับมือภาครัฐ ภาคเอกชนโดย Thorr และมหาวิทยาลัยนครพนม ยกระดับการพัฒนา OTOP ตามโครงการส่งเสริมเครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge-Based OTOP) ผ่านระบบ Video Conference

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยนครพนม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผ่านระบบ Video Conference เพื่อพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge-Based OTOP) ณ สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยนครพนม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และให้แนวทางการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างนวัตกรรม และเตรียมผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาโดยคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดๆ ละ 1 ผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมประกวดและเผยแพร่ผลงานโดยให้ยึดหลักการพัฒนา 5 ส. ได้แก่ 1)สุขภาพ คือผลิตภัณฑ์ต้องสะอาดและมีมาตรฐาน 2)สิ่งแวดล้อม คือการนำวัตถุดิบทางธรรมชาติมาใช้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3)สะดวกสบาย คือคำนึงถึงการใช้งาน ซื้อขาย บรรจุภัณฑ์เหมาะสม 4)สมเหตุ สมผล คือวัสดุที่ใช้ภูมิปัญญา ความจำเป็นในการใช้งาน ราคาเหมาะสม 5)สร้างคุณค่า คือความสวยงาม ชุมชนได้ประโยชน์ ผู้บริโภคพึงพอใจ ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาจะต้องนำคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมีการถ่ายทอดภูมิปัญญา สร้างความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงตลาดทุกช่องทางทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถปรากฏในทุกมุมโลก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 20 กลุ่ม แบ่งเป็นประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย 9 กลุ่ม ประเภทของใช้ของที่ระลึกและของตกแต่ง 8 กลุ่ม ประเภทอาหาร 2 กลุ่ม และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 1 กลุ่ม

 

ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ (อุ๋งอิ๋ง)Designer, Creative, Writer, เจ้าของแบรนด์ THORR เป็นวิทยากรบรรยาย ผ่านระบบ Video Conference ให้คำแนะนำแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และโอกาสความเป็นไปได้ในมุมมองด้านการตลาด (การตลาดนำการผลิต) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมและสวยงาม การควบคุมคุณภาพในการผลิต การบริหารจัดการต้นทุนการผลิต รูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เชื่อมโยงตลาดสู่สากล โดยจังหวัดนครพนม จะขยายโอกาสความร่วมมือกับ THORR ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น จากเดิมที่มีความร่วมมือร่วมกันมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการผ้าทออีสานสู่สากลในปีที่ผ่านมาโดยร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้า ต่อยอดเป็นคู่ค้ากับกลุ่มทอผ้าบ้านหนองนางด่อน อำเภอวังยาง มียอดซื้อขายสร้างรายได้ให้กลุ่มกว่า 100,000 บาท สร้างเครือข่ายการพัฒนาและเป็นคู่ค้ากับกลุ่มทอเสื่อกกบ้านเหล่าพัฒนา อำเภอนาหว้า มียอดซื้อขายสร้างรายได้ให้กลุ่มกว่า 500,000 บาท และกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ บ้านนาคูณใหญ่ อำเภอนาหว้า มียอดซื้อขายสร้างรายได้ให้กลุ่มกว่า 100,000 บาท นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงพัฒนาและเป็นคู่ค้ากับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดนครพนมอย่างต่อเนื่อง เป็นตลาดที่กำลังการผลิตมาจากชุมชน กระจายรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ผู้สูงอายุมีกำลังใจ สุขภาพแข็งแรง มีสังคม มีรายได้ สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องวิ่งเข้าเมืองใหญ่ เพื่อไปหางานทำ ปลูกฝังให้คนรุ่นหลังเห็นคุณค่าต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากทีมอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การทำงานด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ประเภทของใช้ของที่ระลึกและของตกแต่ง ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมจำนวน 7 คน มาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ได้ตามเกณฑ์แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเครือข่ายองค์ความรู้ KBO ในเรื่องการรับรองมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีคุณภาพ สามารถผลิตซ้ำได้ในปริมาณและคุณภาพใกล้เคียงกัน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวนำเสนอเรื่องราวที่สร้างสรรค์น่าสนใจ มีตลาดจำหน่ายที่ถาวร และมีแบรนด์สินค้าที่สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมการตลาด พร้อมทั้งการพัฒนาเส้นใยสับปะรดซึ่งเป็นพืช GI ของจังหวัดนครพนม มาใช้ในการทอผ้าโดยนำเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มจาก “ใบของต้นสับปะรด” มาทำเป็นเส้นใยที่มาจากธรรมชาติมาผสมผสานกับเส้นใยฝ้ายที่ชุมชนใช้อยู่ในปัจจุบันผ่านกระบวนการย้อมทอแบบธรรมชาติโดยเน้นใช้สีย้อมจากไม้มงคล โดยทุกขั้นตอนใช้กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการแปรรูปสับปะรดเป็นเกลือสปาและสบู่สับปะรด รวมถึงการแปรรูปฟักทองเป็นฟักทองผงอบแห้ง ฟักทองเชื่อมอบแห้ง เป็นการพัฒนาเพิ่มมูลค่าพืชผลทางการเกษตรและช่วยเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและสินค้าล้นตลาด

ในการจัดประชุมครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้ปะกอบการ OTOP จำนวน 20 กลุ่ม/คน คณะกรรมการKBO จำนวน 5 คน และทีมอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 7 คน รวม 32 คน ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ผู้เข้าร่วมประชุมมีการตรวจวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และจัดประชุมผ่านระบบ Video Conference โดยแบ่งกลุ่มประชุม ออกเป็น 4 ห้อง ๆ ละ 8 คน และเชื่อมโยงระบบ Video Conference ทุกห้อง

❣️นครพนม : เมืองแห่งความสุข❣️
🌲เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565🌳
🎖Change for Good🎖