พช.วัดโบสถ์ พิษณุโลกเมือง 3 ธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง รวมพลังปลูกผัก รักษ์โลก สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
วันที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น.
ว่าที่ร้อยตรีศราวุธ จันทวงศ์ นายอำเภอวัดโบสถ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ในการนี้ นางทองหล่อ สวัสดิเทพ พัฒนาการอำเภอวัดโบสถ์ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การดำเนินกิจกรรมฯ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ รอง ผอ.สพป.พล.3 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นายก อบต.ท่างาม กำนันตำบลท่างาม ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น คณะครูและนักเรียนโรงเรียนเขาไร่ศรีราชาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งสิ้นประมาณ 50 คน ร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัวจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง กระหล่ำปลี มะนาว ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักชี พริกขี้หนู มะเขือ ณ โรงเรียนเขาไร่ศรีราชา ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
ว่าที่ร้อยตรีศราวุธ จันทวงศ์ นายอำเภอวัดโบสถ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด – 19) ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 นั้น สามารถเป็นแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนปลูกผักสวนครัว และนำพาประเทศให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร จึงมีความความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการกิจกรรมฯ เพื่อเป็นการผนึกกำลัง บูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานราชการ และพลัง บวร ที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้โครงการนี้ ประสบผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อเป็นตัวอย่างและสามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมนี้จะทำให้เกิดภาวะปกติแบบใหม่หรือนิวนอร์มอล (New Normal) ที่ประชาชนต้องหันมาพึ่งพาตนเอง นำไปสู่การบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงขอให้ทุกส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำองค์กรสตรีทุกท่าน น้อมรับนโยบายนี้ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป
นางทองหล่อ สวัสดิเทพ พัฒนาการอำเภอวัดโบสถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แก่พี่น้องประชาชน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) ที่ส่งผลให้ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จังหวัดพิษณุโลก โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 “โครงการพิษณุโลกเมือง 3 ธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง รวมพลังปลูกผัก รักษ์โลก” มาเพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินโครงการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีความยั่งยืน
โดยความร่วมมือทุกภาคส่วน และพลังบวร เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวบรรลุตามวัตถุประสงค์ อำเภอวัดโบสถ์ จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” รอบ 2 โดยการรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือน ทุกหมู่บ้าน ปลูกผักสวนครัวอย่างน้อยคนละ 10 ชนิด เพื่อเป็นการลดรายจ่ายของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเป็นแหล่งอาหารของครัวเรือน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อำเภอวัดโบสถ์ถือว่าเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมให้เห็นผลเร็วและเป็นรูปธรรม จึงได้ผนึกกำลัง ตั้งระบบ ทำให้ครบวงจร บูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” รอบ 2 การดำเนินกิจกรรมในวันนี้ เพื่อเป็นการเพิ่ม “ทักษะชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนสร้างอาหารเป็น” ด้วยการถ่ายทอดวิถีปฏิบัติสู่ลูกหลานในครัวเรือนและส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา ศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูกผักสวนครัวรวมทั้งเลี้ยงสัตว์และประมง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นการสร้างกระแสการรับรู้ และประชาสัมพันธ์แก่พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์อย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดการตื่นตัว เห็นประโยชน์และเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และที่สำคัญคือการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ด้วยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต สร้างความมั่นคงทางอาหาร พี่น้องประชาชน อยู่เย็น เป็นสุข อย่างยั่งยืนต่อไป