Breaking News

นครปฐม มหาวิทยาลัยมหิดลแถลงข่าว “การจัดสร้างหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และลานปฏิบัติธรรม”

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสร้าง“หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” และลานปฏิบัติธรรมประดิษฐานพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ เฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 11 มีนาคม2564  ที่ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “การจัดสร้างหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และลานปฏิบัติธรรม” เพื่อเป็นที่สักการะบูชา สถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และใช้เป็นสถานที่สําหรับการปฏิบัติธรรมของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ของ มหาวิทยาลัยมหิดล และประชาชนทั่วไป โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และที่ปรึกษาโครงการฯ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการฝ่ายดำเนินงานโครงการฯ อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม ระดับอาวุโส สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร หัวหน้าคณะผู้ออกแบบปรับปรุงหอพระฯ และลานปฏิบัติธรรม ร่วมแถลงข่าว ครั้งนี้ด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระราชานุญาต ให้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๖๕ พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ65 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้ประกอบด้วย การจัดสร้างพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ขนาดหน้าตัก 65 นิ้ว การจัดสร้างหอพระเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป และสร้างลานปฏิบัติธรรมรอบหอพระ โดยใช้พื้นที่ บริเวณด้านหน้าสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นสถานที่ในการดำเนินโครงการฯ ในการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ขนาดหน้าตัก65 นิ้ว ได้นำต้นแบบมาจาก “พระพุทธมหาลาภ” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ 8 พฤษภาคม 2535 พระพุทธมหาลาภมีพุทธลักษณะอันหมายถึง พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งการแพทย์และยารักษาโรค และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่นี้ ว่า “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาน” ซึ่งหมายถึง “พระพุทธรูปที่นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และพระราชทานชื่อหอพระว่า “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” ซึ่งปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้อัญเชิญ “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาน” ขึ้นประดิษฐานบน “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานตกแต่งหอพระฯ ให้สวยงามตามที่ศิลปินได้ออกแบบไว้”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายดำเนินงานโครงการฯ กล่าวว่า “การดำเนินงานก่อสร้างและปรับปรุงรูปแบบหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และออกแบบภูมิสถาปัตย์โดยรอบหอพระ ได้รับเกียรติจากคณะศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด สถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุมาศ สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดร.พรธรรม ธรรมวิมล อาจารย์มณเฑียร ชูเสือหึง และอาจารย์มานพ อมรวุฒิโรจน์ จาก กรมศิลปากร มาดำเนินการในส่วนการปรับแบบโดยภาพร่างต้นแบบ การออกแบบของหอพระ การปรับปรุงและออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบ ให้มีความวิจิตร สวยงาม เพื่อจะได้เป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย ที่จะเป็นสถานที่ที่ผู้มาเยือนมหาวิทยาลัย ได้รำลึกถึงความงดงามของศิลปะวัฒนธรรมไทย รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และคุณูปการที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยมหิดล และประเทศไทย”

อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม ระดับอาวุโส สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร หัวหน้าคณะผู้ออกแบบปรับปรุงหอพระฯ และลานปฏิบัติธรรม กล่าวว่า “รู้สึกเป็นภาคภูมิใจ ที่ได้รับเกียรติปรับปรุงรูปแบบของ หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และลานปฏิบัติธรรม โดยได้แนวคิดการจัดทำ เนื่องจากหอพระฯ จัดสร้างที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน จึงนำการผสมผสานสถาปัตยกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งศิลปะแต่ละพื้นมีความสวยงามแตกต่างกัน จึงดึงความสวยงามของแต่ละสถาปัตยกรรมมาร้อยเรียงกัน ได้แก่ ทรงเรือนยอดประยุกต์จากศิลปะพม่า เสาและบัวหัวเสาศิลปะเขมร กรอบประตูทางเข้าเป็นศิลปะจีน ฐานระเบียงมีลวดลายดอกไม้ของมาเลเซีย หัวเสาราวบันไดเป็นศิลปะของชวา มีขนาดฐานกว้าง 9 เมตร ยาว 9 เมตร ความสูงถึงยอดฉัตร 18 เมตร ภายในมณฑ ประดิษฐานพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ขนาดหน้าตัก 65นิ้ว บนฐานชุกชีปูนชั้น ฉากหลังหอพระที่วาดโดยอาจารย์มณเฑียร ชูเสือหึง เป็นสัตว์หิมพานต์มงคล มีความหมายของความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ด้วยพระพุทธมหิดลฯ มีความหมายของ ปัญญาความรู้ และความเป็นมงคลแก่มหาวิทยาลัยมหิดล และการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับ ตามแนวคิด “พุทธอุทยาน” ออกแบบโดย ดร.พรธรรม ธรรมวิมล เพื่อรองรับกิจกรรมทางพุทธศาสนา ของบุคลากรและนักศึกษา รวมทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเคารพสักการะของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า “ถือว่าเป็นโชคดีของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ทีมออกแบบปรับปรุง หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ที่เป็นทีมผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร มาร่วมในการออกแบบหอพระฯ และลานปฏิบัติธรรมในโครงการเฉลิมพระเกียรติ65 พรรษาฯ ซึ่งหอพระฯและลานปฏิบัติธรรมนี้ จะเป็นสถานที่สำคัญของประชาชนคนไทยและคนต่างชาติที่มาเยือนมหาวิทยาลัยมหิดล จะมีความประทับใจ มีความอิ่มเอมใจ และรู้สึกถึงความเป็นสิริมงคล ที่ได้มาสักการะพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ที่หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และสถานที่แห่งนี้ จะเป็นสถานที่ และสิ่งเคารพบูชา ได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ที่เข้ามาร่วมกันทำงานถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความทุ่มเทและเสียสละ รวมถึงความตั้งใจ ที่จะก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ดีที่สุด ที่จะอยู่ในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และประเทศไทย

***มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้างหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และลานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้บริจาคจะได้รับเหรียญพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาน โดยทุกการบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษี ได้1 เท่า มีรายละเอียดดังนี้

– บริจาค 2๐๐,๐๐๐ บาท รับชุดเหรียญ (ขัดเงา)  1 ชุด ประกอบด้วย เหรียญทองคำ 96.5% เหรียญทองชมพู 52% เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงพิเศษ (ชนวน)

– บริจาค3,๐๐๐ บาท รับเหรียญเงิน (เนื้อเงินรมดำ)1 เหรียญ

– บริจาค3๐๐ บาท รับเหรียญบรอนซ์ (ทองแดงรมดำ)1 เหรียญ

สอบถามรายละเอียดการสมทบทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการก่อสร้างที่ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ โทร. 02-849-6359 , 02-849-6111 Line ID: @mahidolfoundation

 

พัชรี เกษรบุญนาค/ข่าว