Breaking News

นายกอบจ.นครปฐม เรียกประชุมการวางแผนการจัดสรรงบประมาณ ด้านสาธารณสุข

นายกอบจ.นครปฐม เรียกประชุมการวางแผนการจัดสรรงบประมาณ ด้านสาธารณสุข

เมื่อวันที่10มีนาคม 2564 ที่ สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม

นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกอบจ.นครปฐม เป็นประธานการประชุมวางแผนการจัดสรรงบประมาณ ด้านสาธารณสุข ร่วมด้วย ปลัดอบจ.นครปฐม เจ้าหน้าที่ส่วนเกี่ยวข้อง โดยได้เชิญ นายแพทย์วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย แพทย์หญิงดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และทีมงาน เข้าร่วมประชุมวางแผนการจัดสรรงบประมาณ ด้านสาธารณสุข โดยการลดความแออัด การรอคอยในโรงพยาบาล โดยจัดให้บริการด้านปฐมภูมิ ขยายการบริการลงสู่ท้องถิ่น รพ.สต. การพัฒนารูปแบบบริการ และการพัฒนาระบบสุขภาพ (Service Plan)

ระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Integrated, People-centered Primary Care) โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ และความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการสุขภาพของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม มีแนวทางการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทีมสุขภาพ หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อให้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น


การจัดบริการ จตุรทิศของเครือข่ายโรงพยาบาลสามพราน มีการขยายบริการ ด้านกายภาพบำบัด การตรวจเลือด คลินิกโรคหอบหืด ขยาย ไปในสี่ทิศรอบเขตอำเภอสามพราน เพื่อลดเวลาการรอคอยในการบริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้เข้ารับบริการตรวจในด้านต่างๆ มุ่งเน้น เรื่องงบประมาณ พัฒนา ระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน บริการใกล้บ้าน ใกล้ใจปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งเรื่องการนำระบบ Telemedicine มาใช้ในโรงพยาบาล


Telemedicine คือ การให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ซึ่งในภาษาไทยจะเรียกว่า โทรเวชกรรม หรือระบบแพทย์ทางไกล เดิมทีเทคโนโลยีการรักษาแบบ Telemedicine เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลในประเทศไทยก็ค่อย ๆ เริ่มนำมาปรับใช้กับการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ยิ่งกระตุ้นให้โรงพยาบาลหันมาใช้วิธีการรักษาแบบ Telemedicine เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการรักษาในช่วงเวลาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรอคิว ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน และลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาลประโยชน์ของการรักษาแบบ Telemedicineประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ไกลโรงพยาบาล สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและวินิจฉัยจากแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวสามารถติดตามการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาในการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางการแพทย์ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และคำแนะนำจากแพทย์ได้โดยตรง รวมทั้งยังจัดเก็บข้อมูลการรักษาอย่างเป็นระบบ