อธิบดี พช.ประสานพลังไตรภาคี หนุน สนช.ประกาศความสำเร็จ AgTech4OTOP ดึงสตาร์ทอัพสร้างแพลตฟอร์มตลาดเสริมจุดแข็ง OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น
วันที่ 6 มีนาคม 2564
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธีปิดโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมี ดร.สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นางสาวมนฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวมนชนก ธนสันติ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ นายนฤศันส์ ธันวารชร บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่น สตาร์ทอัพด้านการเกษตร สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ลานเอเทรียม ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
โครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ริเริ่มโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับ 3 พันธมิตร ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือกลุ่มเกษตรกรชุมชน ที่ผ่านการคัดเลือกนำร่องจำนวน 50 กลุ่ม ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค จำนวน 28 จังหวัด 39 ชนิดสินค้า สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย จับมือกับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ใช้เรื่องราวดึงเอกลักษณ์และคุณค่าของสินค้าเกษตรที่โดดเด่น สร้างสรรค์สินค้า สร้างแผนการตลาดร่วมกันบนแพรตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ส่งให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ก้าวสู่ช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ สร้างการเติบโตของยอดขายอย่างก้าวกระโดด
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การดำเนินโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นการต่อยอดกับผลงานที่รับมอบจากรัฐบาลในการพัฒนาสตาร์ทอัพ ให้เป็นนักบุกเบิกทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior) โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมีความสำคัญสูงมากสำหรับประเทศไทย พลิกโฉมให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโต แก้ไขปัญหาด้วยรูปแบบใหม่ๆ ตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร
กล่าวได้ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราดึงเอา 10 สตาร์ทอัพ มาเจอกับ 50 กลุ่มพี่น้อง OTOP ในอัตราส่วน 1:5 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาทิ ส้มโอนครชัยศรี จ.นครปฐม สับปะรดนางแล ภูแล จ.เชียงราย ทุเรียนป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ มะปี๊ด จ.จันทบุรี เป็นต้น ให้ขึ้นบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ภายใต้มีเมนเทอร์ระดับมืออาชีพ ที่เข้าใจการตลาดสมัยใหม่ พร้อมเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ร่วมสนับสนุนและให้คำแนะนำตลอดโครงการ โดยการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อสรุปแผนการพัฒนาสินค้ำ ทั้งการเล่าเรื่อง การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้ากระบวนการผลิต นอกจากนี้กลุ่ม OTOP ยังเข้าใจวิธีการขายทางออนไลน์ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองได้ในอนาคต ให้ภาพลักษณ์ใหม่เกิดขึ้นกับวงการเกษตรที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้
วันนี้เราจึงไม่ถือว่าเป็นวันปิดโครงการ แต่เป็นวันประกาศความสำเร็จที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ3 พันธมิตร ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่สำคัญอย่างยิ่งคือสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และ กลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ร่วมสร้างขึ้น รับรองได้ว่าโครงการนี้จะถูกผลักดันและต่อยอดในปีต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะขยายความร่วมมือไปสู่ทุกภาคีเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน เป็นการนำนวัตกรรมมาตอบโจทย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการตลาด เพื่อดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน ต่อไป”
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ขอขอบคุณ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ได้ริเริ่มโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ที่มีความสอดคล้องกับภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน ในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัว ซึ่งเป็นการอำนวยประโยชน์ให้เกิดโอกาสที่ดีสำหรับพี่น้อง OTOP ซึ่งแม้ว่าในการเริ่มต้นครั้งนี้ จะมีเพียง 50 กลุ่ม OTOP สาขาเกษตรอัตลักษณ์ก็ตาม แต่จากที่ได้เห็นสุดยอดผลงานในวันนี้แล้วมั่นใจได้ว่า สินค้า OTOP ที่กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายมุ่งขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2544 หรือกว่า 19 ปี ปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 92,475 ราย/กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 206,236 ผลิตภัณฑ์ อยู่ทั่วทุกจังหวัดมีอนาคตที่สดใสรออยู่อย่างแน่นอน เรื่องที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างประเทศไทย 4.0 ที่รัฐมนตรีท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อน ครั้งนี้จึงเป็นรูปประธรรมหนึ่งของประเทศไทย 4.0 โดยอาศัยคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกำลังต่อยอดในเรื่องของผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP กำจัดจุดอ่อน ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับรูปโฉมและคุณภาพ ให้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย วันนี้คือวันที่เราจะร่วมก้าวย่างไปอย่างหนักแน่นทลายกำแพงในเรื่องของการตลาด และเสริมต่อยอดในเรื่องของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี อันเป็นส่วนขยายฉายภาพคุณค่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษได้เป็นอย่างดี อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นงานหัตถกรรม หรืออาหารการกิน สมุนไพร เป็นต้น
ในนามของกรมการพัฒนาชุมชน ยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในภาคี ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โครงการนี้เสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ของพี่น้องชาว OTOP กว่า 9 หมื่นกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด จะได้รับการยกระดับให้เกิดความแพร่หลายสู่สากล ขอให้กำลังใจและชื่นชมพลังฝีมือของสตาร์ทอัพทุกคนที่นำพาผลิตภัณฑ์ OTOP ไปสู่ผู้บริโภคที่กว้างใหญ่ไพศาลเพิ่มมากขึ้น วันนี้จึงไม่ใช่วันปิดโครงการ แต่วันนี้เป็นวันที่เราประกาศชัยชนะเหนือจุดอับ ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งความหวังไว้ ขอให้คำมั่นในฐานะตัวแทนกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ร่วมส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดและขยายผลเพื่อให้ชุมชนมีความเข็มแข็งด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว