พ่อเมืองมหาสารคาม น้อมนำศาสตร์พระราชา มุ่งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำร่องปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
วันที่ 5 มีนาคม 2564
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยนางสงวน มะเสนา พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในศาลากลางจังหวัดมหาสารคามและประชาชนที่มาติดต่อราชการ ได้ศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ณ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่จตุรมุขบริเวณศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทาน จำนวน 23 ชนิด ประกอบด้วย สลัด คอส สะระแหน่ ขึ้นฉ่าย ข่า ตะไคร้ ต้นหอม พริก มะเขือ กะเพรา มะกรูด มะนาว คะน้า เตยหอม มะละกอ กะหล่ำปลี ยี่หร่า ผักกาดแก้ว ผักแพรว ผักไชยา ผักชีฝรั่ง ฟักทอง ชะพลู พร้อมทั้งมีการออกแบบพื้นที่ปลูกตามรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่ 1.44 งาน ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น และน้อมนำแนวพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สมดุล สร้างความพออยู่ พอกิน และพอเพียงในการดำเนินชีวิต บูรณาการตามศาสตร์พระราชา ให้สอดคล้องกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ เช่น การบริหารจัดการน้ำ ด้วยการขุดคลองไส้ไก่ ทำหลุมขนมครก และพื้นที่การเกษตรด้วย “โคก หนอง นา โมเดล” มีการบริหารจัดการชุมชนแบบบูรณาการที่เข้มแข็ง และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคง โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่น สวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอีกทางด้วย
ในการนี้ นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ยังได้ส่งเสริมให้หน่วยงานส่วนราชการ ซึ่งมีที่ตั้งภายนอกศาลากลางจังหวัด รวมถึงบ้านพักข้าราชการที่มีพื้นที่เหมาะสม ให้ดำเนินการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน อย่างต่อเนื่อง ตามกิจกรรม “ผู้นำต้องทำก่อน” และ “ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นได้จริง ซึ่งเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตให้ประชาชนปฏิบัติตาม มีผักปลอดภัยไว้รับประทาน เป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานโครงการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนหมู่บ้าน/ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างสุขภาพที่ดี ด้วยการบริโภคพืชผักสวนครัวที่สด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษ พร้อมทั้งร่วมรณรงค์เชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงในทุกชุมชน
ด้านนางสงวน มะเสนา พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกทั้งแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาประพฤติปฏิบัติร่วมกับส่วนราชการ องค์การปกครองท้องถิ่น รวมถึงภาคีเครือข่าย มาขยายต่อยอดสู่กิจกรรมตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 เปลี่ยนพื้นที่ว่างเป็นแปลงปลูกผัก เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพอย่างยั่งยืน
จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดำเนินการที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนได้ปลูกผักสวนครัว ต่อสู้กับสถานการณ์โควิด – 19 ก่อให้เกิดผลผลิตไว้ในการดำรงชีวิต ซึ่งมีความสอดรับและสามารถบูรณาการควบคู่กัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน นับเป็นเสมือนการจุดพลุเบิกฤกษ์ให้พี่น้องประชาชน ได้หันกลับมาปลูกผักสวนครัวมากขึ้น อันจะเป็นรากฐานเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคตต่อไป