Breaking News

สุพรรณบุรี   ผู้บัญชาการกองกำลังจิตอาสาพระราชทานติดตามโครงการธนาคารโคกระบือ

สุพรรณบุรี   ผู้บัญชาการกองกำลังจิตอาสาพระราชทานติดตามโครงการธนาคารโคกระบือ
ที่ จ.สุพรรณบุรี พลเอก ศิวะ ภระมรทัต ผู้บัญชาการกองกำลังจิตอาสาพระราชทาน พร้อมคณะเดินทางไปที่หมู่ 7 ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตรวจเยี่ยม ติดตามการดำเนินการโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยมีนายปรีชา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายเสกสรร ถนอมกิตติ นายอำเภออู่ทอง นายพีระศักดิ์ มาตรศรี นายก อบต.พลับพลาไชย นายอดิศักดิ์ มาตรศรี กำนันตำบลพลับพลาไชย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรในโครงการให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินการโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ จากคณะกรรมการ


นายพีระศักดิ์ มาตรศรี นายก อบต.พลับพลาไชย กล่าวว่าการดำเนินโครงการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2552 โดยองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภออู่ทอง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือ ตามพระราชดำริ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย ได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ มีการคัดเลือกตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการตรวจสอบและติดตาม ให้คำแนะนำแก่สมาชิกในกลุ่มร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย และสำนักงานปศุสัตว์ อำเภออู่ทอง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบืออย่างใกล้ชิด โดยมีสำนักงานปศุสัตว์อำเภออู่ทองเป็นผู้ประสานงานให้คำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ


การดำเนินการโครงการธนาคารโค-กระบือ ขององค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย ได้วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้แก่เกษตรกรที่ได้รับการอนุมัติให้ยืมโค-กระบือเพศเมียต้องส่งคืนลูกตัวที่ 1 เมื่อลูกโค-กระบืออายุครบ 18 เดือน หรือเกษตรกรอาจซื้อคืนเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรเองโดยองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชยจะเป็นผู้รวบรวมเงินค่าโค-กระบือส่งให้สำนักงานปศุสัตว์อำเภออู่ทอง เพื่อส่งให้โครงการธนาคารโค-กระบือ นำไปจัดสรรให้เกษตรกรทั่วประเทศต่อไป วัตถุประสงค์การตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค-กระบือ เป็นการช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร แก้ปัญหาการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าของโค-กระบือ โดยการพัฒนาสายพันธุ์โค-กระบือให้คงเอกลักษณ์ความเป็นกระบือไทยเหมือนในอดีตที่มีโครงสร้างใหญ่น้ำหนักเยอะ นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่มเกษตรกรธนาคารโค-กระบือ และพัฒนาต่อยอดการเลี้ยงโค-กระบือให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หลังจากได้รับมอบโค-กระบือ


ตั้งแต่ พ.ศ.2559-2563 รวมทั้งสิ้นจำนวน 194 ตัวแยกเป็นโคจำนวน55ตัว กระบือจำนวน139ตัวมีสามชิกกลุ่มจำนวน189 คนกระจายอยู่ในพื้นที่ตำบลพลับพลาไชย ปัจจุบันมีลูกโคตัวที่1จำนวน 20 ตัวและกระบือจำนวน 88 ตัวจะสามารถส่งคืนในปี2564จำนวน 16 ตัว สำหรับลูกโค-กระบือที่ออกรอบแรกนี้กลุ่มธนาคารโค-กระบือ และองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย ขอบริหารจัดการกับลูกโค-กระบือตัวที่1 เองก่อนเพื่อกระจายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติเหมาะสมซึ่งจะทำให้มีปริมาณโค-กระบือเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปอย่างรัดกุมมีการติดตามประเมินผลทุก4เดือนให้คำแนะนำการเลี้ยงสัตว์การสุขาภิบาลการดูแลสัตว์ การจับสัตว์และการักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เบื้องต้น


จากนั้นผู้บัญชาการกองกำลังจิตอาสาพระราชทาน ได้ลงแปลงนาสาธิตการไถนาโดยใช้กระบือด้วยเองพร้อมกับขี่กระบือ เพื่อทดสอบสุขภาพความแข็งแกร่งของกระบือ โดยผู้บัญชาการกองกำลังจิตอาสาพระราชทาน กล่าวว่ารู้สึกพอใจกับการบริหารจัดการโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ของกลุ่มเกษตรกรตำบลพลับพลาไชย ที่บริหารจัดการได้เป็นระบบและสมาชิกในกลุ่มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีพร้อมกล่าวว่าการได้ขี่กระบือ และได้ไถนา รู้สึกดีบรรยากาศดีเหมือนได้กลับมาอยู่บ้านนอกขอให้ช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์กระบือให้แข็งแรงให้ใหญ่ขึ้น
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี