พช. จัดกิจกรรม “Veget of Love : ปันผัก ปันรัก ปันสุข” ขับเคลื่อนการน้อมนำ แนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในกิจกรรม“Veget of Love : สสช. ปันผัก ปันรัก ปันสุข” การขับเคลื่อนการดำเนินงานการน้อมนำ แนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ในการนี้ นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมงาน โดยมีนางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความแข็งชุมชน นำเยี่ยมชม ณ โถงหน้าห้องสมุด ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน ภายในงานมีการจัดกิจกรรมมอบต้นกล้าผักให้กับผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อนำไปเพาะพันธุ์ต่อ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและบูทอาหาร ชิมเมนูสุขภาพ กิจกรรมการแลกเปลี่ยน แบ่งปันพันธุ์ผักสวนครัว สาธิตการตำส้มตำลีลา และกิจกรรมการประกอบอาหารจากผักเพิ่มพลัง หยุดยั้งโควิด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ที่จัดกิจกรรมร่วมกันในการช่วยกันปลุกระดมตัวเอง คนในครอบครัว ช่วยให้พี่ๆ น้องๆ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ตื่นตัว ในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการปลูกผักปลูกรักเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในวันนี้ ซึ่งโครงการฯ ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ดำเนินการ ในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2564 อันเนื่องมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การดำเนินการในปีที่ 1 นั้น ได้ตั้งเป้าหมายที่สำคัญว่า เราอยากเห็นการสร้างวัฒนธรรมการปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราอยากเห็นความต่อเนื่อง โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำร่องที่บ้านโก่งธนู ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน ได้ไปศึกษาดูงานที่โก่งธนู มีการทำ KM ร่วมกัน สิ่งสำคัญเรื่องปลูกผักสวนครัว นั้นคือเราต้องลงมือทำ ต้องช่วยกันรณรงค์ เชิญชวน พี่ๆ น้องๆ เจ้าหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน และคนในครอบครัว ช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัว ผลจากการปลูกผักเราจะได้กินผักปลอดสารไว้ประกอบอาหารในครัวเรือน สามารถแจกจ่ายผักให้เพื่อนบ้านได้
สาระสำคัญในเชิงเศรษฐกิจนั้นคือ เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจากกินอาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง สารปนเปื้อน สารเคมี เราจะสุขภาพแข็งแรงเพราะเราได้ลงมือออกกำลังกายปลูกผัก รดน้ำพวนดิน ช่วยให้ครอบครัวมีความสุขเพราะคนในครอบครัวมีความรักความสามัคคี ช่วยกันทำกิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ช่วยให้ครอบครัวของคนไทยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ ยกตัวอย่างหากเราซื้อพืชผักสวนครัวแต่ละครัวเรือนๆ ละ 50 บาท ต่อวัน ยกตัวอย่าง 12 ล้านครอบครัว วันหนึ่งเราสามารถทำให้คนไทยประหยัดรายจ่ายได้ถึง 600 ล้านบาท 1 ปี ใน 365 วัน รวม 2 แสนล้านบาท ช่วยทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ในทางอ้อมเราช่วยให้คนไทยไม่ต้องจ่ายเงินไปกับการรักษาตัวจากโรคภัยไข้เจ็บ ลดรายจ่ายในการซื้อพืชผักในการประกอบอาหารในครัวเรือน
อธิบดี พช.ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้เราก็โชคดี กรมการพัฒนาชุมชนได้ MOU ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับสมาคมสื่อช่อสะอาด เมตตานำเอาสมาชิก ภาคีเครือข่าย ที่เป็นนักวิทยุ มีสถานีวิทยุกว่า 421 สถานี และพันธมิตร รวมแล้วเป็น 1,000 กว่าสถานีรวมเป็นพันธุ์ กระจายอยู่ในทุกจังหวัด เริ่มต้นที่ตัวท่านต้องปลูกผักให้ท่านกินก่อน ในเชิงคุณภาพ คือการทำจริง ต้องช่วยกันทุ่มเท ช่วยกันในการที่จะขับเคลื่อนฯ คือการไปลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU กับ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (เมล็ดพันธุ์ผัก ตรา ศรแดง ) ได้มอบเมล็ดพันธ์ผัก ตรา ศรแดง จำนวน 100,000 ซอง ให้กรมการพัฒนาชุมชน ส่งต่อไปสู่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยให้ส่งครบถ้วนโดยเร็ว และอีกโปรแกรมหนึ่ง คือท่านพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ ต้องสื่อสารสร้างการรับรู้แก่นายกเทศมนตรี. นายก อบต. และพี่น้องประชาชนได้รับทราบ ว่าในช่วง 90 วันนี้ แผนปฏิบัติ จะซื้อเมล็ดพันธุ์ผักเพิ่ม มีโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 เหมือนการลด 50 ซื้อพริก 1 ซอง แถม 1 ซอง โดยเฉพาะนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าแก้ไขปัญหาความยากจน ให้รีบฉกฉวยโอกาสในการที่จะส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ของตนเอง ครัวเรือนหนึ่ง 1 ซอง ก็เหลือเฟื้อ ต่อพืชผัก 1 อย่าง อยากให้เขาปลูก 5 อย่าง ก็ให้ 5 ซอง
และเรื่องสำคัญต่อมา คือการพยายมสร้างสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยให้ทุกครัวเรือนรู้จักเก็บเมล็ดพันธุ์ผักที่มีอยู่ประจำบ้าน เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อที่จะใช้เพาะปลูกเองหรือแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน เช่น ชุมชนตำบลโกงธนู จังหวัดลพบุรี ดำเนินการ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานมาให้ 10 ชนิด ต่อ 1 ครัวเรือน แต่ละครัวเรือน จะมีชนิดที่แตกต่างกัน 2 – 3 ชนิด และท้ายที่สุดแล้วแต่ละก็จะกลาย เป็น 12 กลายเป็น 16 กลายเป็น 20 ชนิด เพราะสังคมของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเก็บและแบ่งปัน บ้านนี้ยังไม่มีถั่วพู เอาเมล็ดถั่วพูไป บ้านนี้ยังไม่มีมะเขือม่วง เอาเมล็ดมะเขือม่วงไป บ้านนี้ยังไม่มีฟักทอง เอาเมล็ดฟักทองไป จะทำให้ภารกิจในการช่วยกันขับเคลื่อนสังคมเป็นสังคมที่น่าอยู่ ผู้คนน่ารัก เกิดขึ้นได้ ขอบคุณทุกท่านและเป็นกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข้ง มีความมุ่งมั่นทำความดีให้กับครอบครัวให้กับสังคม ด้วยเรื่องง่ายๆ ด้วยการปลูกผักสวนครัวที่บ้านของตนเอง และช่วยกันแชร์รูปภาพ แชร์เรื่องราว ผ่าน Facebook ปลูกพืชปลูกผักปลูกรักกับ พช. ทำให้พืชผักสวนครัวเป็นแหล่งที่สำคัญ เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย กระจายให้เต็มแผ่นดินไทยของเรา สมดั่งที่พวกเราทุกคนตั้งใจ