Breaking News

พช. ผนึกกำลัง มูลนิธิเอ็มโอเอไทย ร่วมลงนามการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก

พช. ผนึกกำลัง มูลนิธิเอ็มโอเอไทย ร่วมลงนามการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น.

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และนายสัตยา ณ ระนอง รองประธานมูลนิธิเอ็มโอเอไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการเพื่อการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก (Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals : SEP to SDGs) ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กับ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA THAI FOUNDATION) โดยมีนายสุวัฒน์ ชำนาญกิจ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวชิระ เกตุพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทรงคุณ พิทยาปรีชานนท์ กรรมการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย ผู้ตรวจราชการกรม คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลพบุรี คณะผู้บริหารมูลนิธิเอ็มโอเอไทย ข้าราชการเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ภาคีเครือข่าย ผู้นำชุมชนและสื่อมวลชน ร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยานในพิธีฯโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสมบัติของชาติ รวมทั้งดำเนินการอื่นใดที่จำเป็น และเกี่ยวข้องในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ของชาติต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน ตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก สร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตบุคคล พร้อมทั้งพัฒนาชุมชนน่าอยู่ทั้งจิตและกาย ด้วยการขยายชุมชนอาหารสุขภาวะและศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ชีวิตและศิลปะ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย สาขาลพบุรี ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน และมูลนิธิเอ็มโอเอไทย มีอุดมการณ์และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือการทำให้พี่น้องมีความสุขและมีความมั่นคงแบบยั่งยืนโดยการยึดหลักพึ่งพาตนเองและหลักการของการเคารพธรรมชาติให้ดำรงชีวิตโดยการไม่เบียดเบียนธรรมชาติในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร สิ่งที่สำคัญที่สุดผมดีใจที่จะได้คนที่เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำของ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย ไปช่วยเหลือในการขับเคลื่อนงานสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องคนไทยทั่วประเทศ โดยมีพี่น้องของกรมการพัฒนาชุมชนเป็นเหมือนโซ่ข้อกลางนำเอาความช่วยเหลือของ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย ไปสู่ท่านผู้นำในแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ ตำบล และครัวเรือนต่อไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวความคิดเรื่องของหลักการทรงงาน พระองค์ท่านพระราชทานไว้ชัดเจนให้กับพวกเราให้รู้จักที่จะนำหลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ พื้นฐานง่ายๆ ก็คือให้ทุกภาคส่วนที่มาขับเคลื่อนร่วมกัน และจำเป็นต้องมี 2 เรื่อง คือ 1) ต้องมีความเชื่อในการทำงานร่วมกัน เชื่อในเรื่องเดียวกัน 2) การที่จะขับเคลื่อนผ่านไปด้วยกัน ผู้นำภาคราชการ ภาคประชาชนต้องทำให้เป็นตัวอย่าง สิ่งที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้เราต้องโน้มตัวเราไปหาคนที่เราอยากให้เขาทำ เช่น วันนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมกับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย ช่วยกันในการขับเคลื่อนหลักทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้เรา คือ เข้าใจ โดยร่วมกันมี attitude หรือมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของภูมิสังคม เข้าใจธรรมชาติของพื้นที่และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนที่เราทำงาน เข้าถึง เรื่องการเข้าถึงไม่ใช่แค่เข้าถึงพื้นที่ ควรเข้าถึงหัวใจของชาวบ้าน ดังนั้นเราต้องเข้าถึงเพื่อให้ชาวบ้านได้ไว้ใจ ก็จะก่อให้เกิดการร่วมกันพัฒนา เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขได้รับประโยชน์

เมื่อลงนามเสร็จแล้วสิ่งที่สำคัญคือ แนวทางการขับเคลื่อนต้องขอให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 11 แห่ง มีพื้นที่ที่เป็นประจักษ์พยานว่า เราน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมไปถึงการน้อมนำพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ครอบคลุมทั้ง 11 แห่ง อาทิ เช่น ขณะนี้มีแปลงสาธิตที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ขนาดพื้นที่ 30 ตารางวา ชื่อว่า “บ้านพอเพียง 30 ตารางวา” คือหมายความว่ามีพื้นที่ 30 ตารางวา สามารถปลูกพืชผักกินได้ตลอด รวมทั้งมีไข่ไก่ ไข่เป็ด ซึ่งเป็นฐานเรียนรู้ แต่ต้องทำให้เกิดขึ้น บวกกับเรื่องของการน้อมนำเอาหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นาโมเดล”

กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 และนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรง สืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของ ร. 9 เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนประชาราษฎร์และเกิดสุขแก่พี่น้องประชาชน ฉะนั้นขอให้มีความเชื่อ มีทัศนคติเหมือนกันว่ามนุษยชาติเราต้องพึ่งพาตนเอง โดยเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่นำสารพิษเข้ามาสู่ร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นทางตรง ทั้งที่ยังกินเหล้าและสูบบุหรี่ขอให้เลิก ทางอ้อมคือ เราปลูกพืชผักผลไม้ฉีดยาฆ่าแมลงเต็มไปหมดแล้วนำมารับประทานก็เหมือนเอาสารพิษมาสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นในส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะจับมือไปด้วยกัน เราต้องคิดและต้องเชื่อร่วมกันซึ่ง มูลนิธิเอ็มโอเอไทย กับ กรมการพัฒนาชุมชน มีแนวคิดเหมือนกัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน ที่น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และเก็บรวมรวมเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง รวมไปถึงสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช

ด้านนายสัตยา ณ ระนอง กล่าวว่า มูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA THAI FOUNDATION) เป็นองค์กรนิติบุคคลไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างโลกอุดมคติที่เปี่ยมไปด้วยสันติ สมบูรณ์พร้อมด้วยความจริง ความดี และความงามให้ปรากฏขึ้นจริง ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐ และประชาชนทั่วไป ในกิจกรรมด้านสุขภาพองค์รวม ศิลปวัฒนธรรม เกษตรธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ อันเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานของการพัฒนาสังคมไทยด้ายเกษตรธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องและ มีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และพร้อมร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งหวังการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุข ความมั่นคงในชีวิต

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำ บันทึกความเข้าใจความร่วมมือ MOU วันนี้มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่า กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 30,000-40,000 ครัวเรือน มีศูนย์ตำบล 337 ศูนย์ มีพื้นที่ 10-15 ไร่ ระดับครัวเรือน 1-3 ไร่ กว่า 40,000 ครัวเรือน โดยงบปกติ ปี 2563 ได้ดำเนินการ 1,500 ครัวเรือน งบปกติปี 2564 จำนวน 11,414 ครัวเรือน งบเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 24,000 กว่าครัวเรือน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย จะต้องในการขับเคลื่อน ภาคีเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ในระดับครัวเรือนให้มีความรู้ความเข้าใจ หลังจาก สปช.มีความเข้มแข็งในเรื่อง องค์ความรู้ และแนวทางปฏิบัติไปสู่พี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ และเราจะไม่เป็นการเสียเวลาอย่างแน่นอน อันเป็นการสอดรับกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เช่น รักษาภูมิปัญญาไทยในการรักษา อนุรักษ์ แพทย์ทางเลือก ในแง่ของการเกิดผลสัมฤทธิ์ก็อยากจะเชิญชวนให้มาขับเคลื่อนร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ทำให้ก่อให้เกิดอาชีพ และรายได้แก่ชุมชนต่อไป ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้มีการขับเคลื่อนฐานข้อมูลปราชญ์ชาวบ้าน และองค์ความรู้สมุนไพรของปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อการอนุรักษ์พันธ์พืช ทำให้พี่น้องประชาชนพึ่งพาตนเองได้ และกราบขอบพระคุณทุกท่านที่เมตตาต่อกรมการพัฒนาชุมชน มีความมั่นใจในการดำเนินงานขับเคลื่อนร่วมกัน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ให้เกิดความมั่นคงด้านครอบครัว คุณภาพชีวิต โดยเฉพาะปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญ ทั้งเรื่อง อาหารและสิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้เกิดความมั่นคงของชาติต่อไป