มาแล้ว!ฉายาตำรวจ ประจำปี 2563 “บิ๊กปั๊ด” “ผบ.หลบฉาก” น.1 “นายพล (ตีน) ตุ๊กแก” เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ธ.ค.63 ที่ศูนย์ปฏิบัติการสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย นายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมฯ นายสุชัยพงษ์ เพียรชอบ ประธานที่ปรึกษาฯ นายสมชาย จรรยา นายสุรชัย นิโครธานนท์ รองนายกสมาคมฯ นายธนากร ริตุ เลขาธิการสมาคม พร้อมด้วยตัวแทนจากสื่อต่างๆร่วมกันคัดเลือกและพิจารณาตั้งฉายาตำรวจประจำปี 2563 จำนวน 11 นาย
โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมได้ทำงานใกล้ชิดกับแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดปีที่ผ่านมาได้เฝ้าติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนที่จะนำเสนอผลงานสู่สายตาประชาชน จึงได้ร่วมกันตั้งฉายาตำรวจประจำปีขึ้นทุกปี ซึ่งเกณฑ์ในการตั้งฉายาได้มีการประชุมร่วมกับตัวแทนสื่อมวลชนจากสังกัดต่างๆ เสนอรายชื่อนายตำรวจเข้ามาและทำการคัดเลือกเหลือเพียง11นาย มีดังนี้
1.พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉายา “ผบ.หลบฉาก” ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นนายตำรวจมากฝีมือ การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรตำรวจ ได้ตั้งความหวังให้กับพี่น้องประชาชน ถึงการทำงานของตำรวจยุคใหม่ โดยเฉพาะการคลี่คลายคดีที่สังคมให้ความสนใจ เช่นคดีการหายตัวไปของ “น้องชมพู่” แต่จนแล้วจนรอดการแถลงข่าวของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ก็ยังสร้างความแคลงใจให้กับสังคมถึงการหายตัวไปของน้องชมพู่ จนทุกวันนี้ก็ยังไร้คำตอบ และบ่อยครั้งในห้วงที่ผ่านมายังไม่ค่อยเห็นการชี้แจงถึงความคืบหน้าในคดีต่างๆและคอยหลบการให้สัมภาษณ์จากสื่อมวลชน มีเพียงการมอบหมายให้ทีมงานโฆษกชี้แจงเท่านั้นจึงเป็นที่มาของฉายา “ผบ.หลบฉาก”
2.พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉายา “เด่น เป็นงาน” โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีชื่อเล่นว่า “เด่น” ได้รับการมอบหมายให้ดูงานด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ (มค.) เป็นอีกหนึ่งนายพลตำรวจที่น่าจับตามอง ด้วยบุคลิกสุขุมนุ่มลึก บวกกับความสามารถจนเป็นที่ไว้วางใจทำให้ได้รับมอบหมายงานสำคัญ อาทิ การสอบเอาผิดโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร 514 แห่ง ต้องสงสัยทุจริตฉ้อโกงเงินของรัฐจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” , การบุกทลายเครือข่ายพนันออนไลน์ ตลอดจนการรับผิดชอบ ภาพรวมการดูแลรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เรียกได้ว่า มอบหมายงานสิ่งใดไม่ผิดหวัง ฉายแววเด่นในเรื่องงาน เมื่อเทียบในระดับรองผบ.ตร.ด้วยกัน จึงได้รับฉายา “เด่น เป็นงาน”
3.พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฉายา “นายพล (ตีน) ตุ๊กแก” จากเหตุการณ์กราดยิง 4 ศพในบ่อนพระราม 3 ซอย 66 สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเก้าอี้ น.1 เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการตำรวจประจำปี ในที่เกิดเหตุมีนายตำรวจระดับสารวัตรถูกยิงเสียชีวิต หนำซ้ำมีการแชร์ภาพว่ามีการขนย้าย รื้อถอนอุปกรณ์เล่นการพนัน กล้องวงจรปิดเพื่อ “อำพราง” สภาพของบ่อน ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของตำรวจ โดยเฉพาะพล.ต.ท.ภัคพงศ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และถูกขีดเส้นตาย 3 วันในการทำความจริงให้ปรากฏ ถึงแม้ภายหลังจะจับ “บอย บ้านครัว” มือปืนผู้ก่อเหตุได้ก็ไม่ได้เป็นการการันตีต่อลมหายใจในเก้าอี้ “แม่ทัพนครบาล” แต่อย่างใด ท่ามกลางกระแสลือสะพัด ในการปรับบัญชีใหม่เปลี่ยนตัว “ผบช.น.” แต่จนแล้วจนรอดก็พ้นมรสุมมาได้ จึงเป็นที่มาของ ฉายา “นายพล(ตีน)ตุ๊กแก”
4.พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉายา “แจง 5 G” โดยพล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง มีชื่อเล่นว่า “แจง” ถือเป็นนายตำรวจคนแรกขององค์กรที่ได้รับความไว้วางใจให้มากุมบังเหียน “บช.ไซเบอร์” ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ถอดด้ามและเป็นที่คาดหวังของประชาชน ในการปราบปรามอาชญากรรมในปัจจุบันที่ได้พัฒนาไปอยู่ในโลกโซเบอร์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลงานปรากฏต่อสังคม เนื่องจากขุมกำลังยังไม่เพียงพอเปรียบเสมือนสัญญาณ 5 G ที่รู้ว่ามีสัญญานดีแต่ยังมาไม่ถึงจึงเป็นที่มาของฉายา “แจง 5 G”
5.พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับฉายาว่า “นายพลขาลุย” โดยก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคต 3 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนำกำลังหน่วย “นปพ.ภ.3” บุกเข้าไปใน “ห้างเทอมินอลวัน” เพื่อให้การช่วยเหลือเหยื่อที่ถูก “พลทหารคลั่ง” จับเป็นตัวประกัน จนสามารถทำการวิสามัญทหารคลั่ง และช่วยเหลือตัวประกันออกมาได้อย่างได้อย่างปลอดภัย และได้รับคำชมเชยจากผู้บังคับบัญชาหลายท่านถึงความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของฉายา “นายพลขาลุย” อีกนายหนึ่ง
6.พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ฉายา “ต่อ เหนือเมฆ” ซึ่ง พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นนายตำรวจที่ประชาชนรู้จักกันอย่างกว้างขวาง ภาพลักษณ์ทั้งนักบู๊และนักบุญ เดินทางสายบุญและสายบู๊คู่ขนานกันไป นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพกับหน่วยงานผลัดดันการฝึกอบรมทั้งการ “ยิงปืน-โดดร่ม” เห็นได้จากภาพที่ปรากฎในโลกโซเชียลที่ “บิ๊กต่อ” ฝึกซ้อมโดดร่มกับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประจำ ทำให้นักกีฬาโดดร่มของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีสีสันมากยิ่งขึ้นจนสามารถเข้าร่วมแข่งขันกีฬากองทัพไทยได้ จึงเป็นที่มาของฉายา “ต่อ เหนือเมฆ” นั่นเอง
7.พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับฉายา “เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว” ทั้งนี้พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ได้รับความวางใจให้เป็นกระบอกเสียงของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (โฆษก บช.น.) ในห้วงการชุมนุมทางการเมือง จะปรากฏภาพของพล.ต.ต.ปิยะ บ่อยครั้งในการทำหน้าที่โฆษกจากสื่อต่างๆ ในการเจรจาบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนการชุมนุมเปรียบเสมือน “เปาบุ้นจิ้น” แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นนายตำรวจรูปหล่อหน้าขาวจึงเป็นที่มาของฉายา “เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว”
8.พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ได้รับฉายา “กูรูทางเลี่ยง” มีผลงานการแก้ไขปัญหาการจราจรที่เข้าขั้นจลาจล ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจจราจร ทำให้เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังคงได้รับความไว้วางใจให้กำกับดูแลงานจราจร ซึ่งในห้วงการชุมนุมทางการเมือง ม็อบปิดถนนส่งผลให้การจราจรติดขัด รองจิรสันต์ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำข้อมูลข่าวสารด้านการจราจร แก่พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรโดยมีวลีติดปาก “ขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง” แม้แต่ซอยเล็กซอยน้อยก็รู้จัก จนเป็นที่มาของฉายา “กูรูทางเลี่ยง”
9.พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้รับฉายา “มือปราบคดีดัง” โดยนายตำรวจหนุ่มไฟแรงผู้นี้ จบนรต.รุ่นที่ 50 ฝากผลงานโดดเด่นต่อเนื่องตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปราม ทำคดีสำคัญมามากหมายหลายคดี อาทิ นำ “ชุดหนุมาน” เข้าคลี่คลายเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช หรือแม้กระทั่งการสางคดีการเสียชีวิตของเสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๋ง ที่จับกุมอดีต ส.ส.คนดังแห่งเมืองนครสวรรค์ บรรยิน ตั้งภากรณ์ รวมทั้งการสางคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาจนเป็นผลสำเร็จ จึงได้รับฉายา “มือปราบคดีดัง”
10.พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผู้บังคับการสืบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับฉายา “มือปราบเฟคนิวส์”. นอกจากภารกิจในการกุมบังเหียนงานสืบสวนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ขณะเดียวกันในช่วงโควิด-19 ระบาด พล.ต.ต.พันธนะ ก็สวมหมวกหัวหน้าชุดเทคนิคและสืบสวนที่ 2 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) และหัวหน้าชุดประสานความร่วมมือกับศูนย์ต่อต้าน “ข่าวปลอม” (Anti-Fake News Center) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และศูนย์ปราบปรามละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ กสทช. ลุยปราบปรามผู้โพสต์ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนจากข้อเท็จจริงได้หลายร้อยคดี ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน จึงได้ฉายา “มือปราบเฟคนิวส์”
11.พล.ต.ต.รณกร ฤทธิรงค์ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 2 ฉายา “ผู้การกรุแตก” ทั้งนี้พล.ต.ต.รณกร ฤทธิรงค์ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี เคยปรากฏเป็นข่าวจากกรณีที่ใช้วาจาไม่สุภาพที่ท่าอากาศยาน หรือสนามบินอุบลราชธานี หลังไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่บริเวณจุดคัดกรองโควิด จนเป็นเหตุให้ถูกตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและให้มาช่วยราชการที่ ศปก.ภ.3 เป็นเวลา 30 วัน แต่เรื่องก็เงียบหายไป กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 2 แต่ก็ไม่วายถูกตั้งคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมให้มาช่วยราชการที่ ศปก.บช.ทท. หลังได้รับการร้องเรียนว่าระดมกึ่งบังคับลูกน้องให้เข้าร่วม “ทีมเฉพาะกิจ” ออกเก็บ “ค่าตั๋ว ค่าต๋ง” จากสถานประกอบการยามค่ำคืนในพื้นที่ภาคอีสานใต้ จนเป็นที่มาของฉายา “ผู้การกรุแตก” นั่นเอง