ททท. ราชบุรี ชวนเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทาง ราชบุรี – เพชรบุรี – ประจวบฯ
ททท. สำนักงานราชบุรี ชวนเพื่อนเที่ยวเชื่อมโยงราชบุรี – เพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศตามแนววิถีใหม่ (New Normal)
นางสาวสรียา บุญมาก ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานราชบุรี เปิดเผยว่า ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 คลี่คลายและทุกคนก็คุ้นเคยกับการเดินทางท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ (New normal) ที่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยโดยมีการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังสถานที่แออัด ซึ่งจังหวัดราชบุรีเป็นหนึ่งใน 12 เมืองรองที่ต้องห้ามพลาด แหล่งท่องเที่ยวไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่มีลักษณะเป็นแอ่งท่องเที่ยวเล็กๆ ที่น่ารักและมีเสน่ห์ ทั้งด้านประวัติศาสตร์สมัยทวาราวดี ธรรมชาติขุนเขา ทะเลหมอก วัดวาอาราม งานศิลปะร่วมสมัยที่มีพื้นฐานจากโอ่งมังกร รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของกลุ่ม 8 ชาติพันธุ์ อีกทั้งยังอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวสู่จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี จึงสามารถเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวถึงกันได้สะดวก โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีชื่อเสียงด้านความสวยงามของหาดทราย ชายทะเล ในโอกาสนี้ ททท.สำนักงานราชบุรี จึงจัดนำคณะสื่อมวลชน ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ จากจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 40 คน เดินทางเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดราชบุรี ได้แก่ โรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ ตลาดโอ๊ะป่อย พสุธาราฟาร์มเลม่อนออร์แกนิค และกาดวิถีชุมชนคูบัว ในวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2563 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงแบบวันเดียวในหมู่นักท่องเที่ยวคนไทยต่อไป
จุดแรก : โรงงานเซรามิค เถ้าฮงไถ่
โอ่งมังกร มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมานานในจังหวัดราชบุรี กล่าวกันว่าสมัยก่อนโอ่งใช้กักเก็บน้ำชั้นดี และมีลวดลายมังกร โดยชาวจีนเชื่อว่า มังกรเป็นสัตว์มงคลตามเทพนินายจีน เป็นเทพเจ้าแห่งพลังความดีและเป็นสัญลักษณ์พลังอำนาจความยิ่งใหญ่ โดยการวาดลายมังกรจะต้องใช้ความประณีตและความชำนาญของช่างเป็นอย่างมาก จึงทำให้โอ่งมีความสวยงามสะดุดตา แม้ทุกวันนี้โอ่งที่ใช้สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ตามบ้าน จะถูกลดบทบาทลงไป แต่ด้วยชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพลวดลายที่วิจิตบรรจงและงดงามของมังกรที่ปรากฏบนโอ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของโอ่งจากจังหวัดราชบุรี หรืออีกนัยหนึ่งโอ่งมังกรเป็นมากกว่าแค่โอ่งใส่น้ำ แต่คือภูมิปัญญาอันทรงคุณค่ายิ่ง
สำหรับโรงโอ่งเถ้าฮงไถ่ นับว่าเป็นโรงโอ่งแรกๆ ที่มีชื่อเสียงเก่าแก่มาตั้งแต่ปี 2476 และเมื่อรุ่นที่ 3 ของครอบครัวเข้ามาบริหารงานต่อ คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (ติ้ว) จึงพัฒนางานปั้นโอ่งมังกรให้กลายเป็นงานเครื่องปั้นเซรามิคเชิงสร้างสรรค์ ออกแนวอาร์ต มีดีไซน์ร่วมสมัย สีสันสะดุดตา ใช้ประโยชน์เพื่อตกแต่งอาคาร แต่งสวน และส่งออกต่างประเทศ ภายในโรงงานเซรามิคเถ้าฮงไถ่ จึงปรากฏงานดีไซน์เหล่านี้ทั่วทั้งบริเวณ เสมือนเป็นการจัดนิทรรศการศิลปะกลางแจ้ง เรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปโดยเฉพาะกับ “ไอ้จุด” ประติมากรรมสุนัขสีขาวตัวใหญ่ นอกจากนั้น ยังสามารถชมการวาดลวดลายและการปั้นของช่างฝีมือในขณะที่ทำงานจริง หรือลงมือทำกิจกรรม D.I.Y (Do it By Yourself) ด้วยการระบายสีไอ้จุดตัวจิ๋วหรือระบายสีโอ่งน้อยที่มีบริการจัดส่งถึงบ้านเมื่อเผาเสร็จ ภายในยังมีร้านกาแฟตกแต่งน่ารัก ร้านขายของที่ระลึกจากเซรามิค อย่างเช่น แก้วกาแฟไอ้จุด นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการศิลปะหมุนเวียน ในช่วงนี้นำเสนอ 2 เรื่อง คือ Fukushima in the winter ผลงานถ่ายภาพของคุณติ้ว ที่ได้ร่วมกับเมืองฟูกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และ When Chavilit comes to jartown ของอาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติที่เสียชีวิตจากโรคระบาดเชื้อ Covid-19 ในต่างประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้
เถ้าฮงไถ่ เป็นโรงงานเซรามิค ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยไม่มีค่าเข้าชม โทรศัพท์ 086 – 3449191 , 086 – 3449292
จุดที่สอง : ตลาดโอ๊ะป่อย
“ตลาดโอ๊ะป่อย” ตลาดวิถีกะเหรี่ยง อยู่ริมลำน้ำภาชีตรงข้ามกับวัดท่ามะขาม อำเภอสวนผึ้ง เปิดเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 เกิดจากการความคิดริเริ่มของ ดร.ปิรันธ์ ชิณโชติ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสวนผึ้ง บูรณาการร่วมกับชุมชน วัด โรงเรียนบ้านท่ามะขาม และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “โอ๊ะป่อย” เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า “พักผ่อน” ภาพบรรยากาศตลาดเช้าริมลำน้ำภาชีดูเรียบง่าย ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เอกลักษณ์ของวิถีชีวิตและกลิ่นอายของชุมชนชาวกะเหรี่ยงช่วยทำให้ตลาดนี้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น กิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือ การใส่บาตรพระสงฆ์ที่ล่องแพไม้ไผ่มาตามลำน้ำภาชี ช่วงเวลาประมาณ 07.30 น. และกิจกรรมตักน้ำรดต้นผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำอำเภอสวนผึ้ง จุดถ่ายภาพและร้านขายของตกแต่งประดับประดาด้วยคังด้ง (ไยแมงมุม) สีสันสดใส มีร้านขายอาหารให้เลือกชิมถึง 38 ร้าน อาทิ ข้าวแดกงา ข้าวยำสมุนไพร ขนมจีนน้ำยาหยวก ผัดไทย ไก่อบโอ่ง ยำผักกูด ขนมครก ขนมบ้าบิ่น ขนมเบื้อง เป็นต้น โดยภาชนะที่ใช้ใส่อาหารจะเน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก นอกจากนี้ยังมีชุดกะเหรี่ยงให้เช่าใส่ถ่ายรูป การเกิดขึ้นของตลาดโอ๊ะป่อย ส่งผลให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวและร้านค้าชุมชนตามขึ้นมาอีกหลายแห่ง เช่น ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง “เฌอซี๊ญ่า” (ตลาดไกวเปล) หรือการทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ที่ The Backyard ปัจจุบัน ตลาดโอ๊ะป่อย จึงกลายเป็นที่ศึกษาเรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนไปโดยปริยาย
ตลาดโอ๊ะป่อย เปิดทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 07.00 – 14.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่คุณภัทรพงศ์ วงษ์กิจเกษม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โทรศัพท์ 090 – 1399905
จุดที่สาม : Pasutara Farm & Village
คำว่า “พสุธารา” มาจาก พสุธา (ดิน) และ ธารา (น้ำ) อันเกิดจากความรักและความใส่ใจเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับผู้รักธรรมชาติและต้องการพักผ่อน โดยคุณอ้อย ดรุณี วัฒน์นครบัญชา ที่เจ็บป่วยด้วยโรค SLE หรือโรคพุ่มพวงและมีอาการดีขึ้นจากการดูแลตัวเองด้วยธรรมชาติบำบัดโดยไม่ยอมรับการรักษาด้วยเคมีใด ๆ เริ่มจากการรับประทานอาหารที่ดี อากาศดี จึงเกิดแนวคิดที่จะนำวิถีชีวิตแบบนี้มาเป็นวิถีทางของพสุธาราในปัจจุบัน ด้วยการปลูกเลม่อน ตะไคร้หอม โรสแมรี่ ตะไคร้หอม ผักต่าง ๆ ในแบบเกษตรอินทรีย์และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ครีมบำรุงผิว ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักไว้รองรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 090 9971351
จุดที่สี่ : กาดวิถีชุมชนคูบัว
กาดวิถีชุมชนคูบัว อยู่ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างเครือข่ายการท่องเที่ยว ทั้งชุมชน วัด โรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับวัฒนธรรมชาวไท-ยวน ที่มีพ่อค้าแม่ค้าแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองแบบชาวเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดชาติพันธุ์ของราชบุรี ภายใน “กาด” หรือ ตลาด มีสินค้าท้องถิ่นจำพวกของกิน ผักผลไม้ ของฝากมากมาย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านชุมชนคูบัวเอง เช่น เครื่องดื่มผลไม้ ก๋วยเตี๋ยวใส่โอ่ง ผัดไทใส่กระทงที่ทำจากปลีกล้วย ผ้าซิ่นตีนจกคูบัว ซึ่งเป็นสินค้าทอมือที่ขึ้นชื่อของตำบลคูบัว อีกทั้งยังมีลานสำหรับนั่งรับประทานอาหารพร้อมตั้งโตกให้นักท่องเที่ยวซื้ออาหารไปนั่งรับประทาน การแสดงทางวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน ในช่วงเย็นระหว่างเวลา 17.00 – 19.00 น.นักท่องเที่ยวสามารถร่วมฟ้อนรำสนุกสนานไปกับชุมชนได้ด้วย เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.30 น.
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองโบราณบ้านคูบัว ณ “จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว” ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนไทยเชื้อสายไท-ยวน ที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จและเป็นชุมชนตัวอย่าง รวมถึงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณบ้านคูบัวที่เคยรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยทวารวดีถึงปัจจุบัน เปิดตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. หยุดวันอังคาร