Breaking News

นครปฐม เปิดการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข

พิธีเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการ วัดประชา รัฐ สร้างสุข

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ที่อาคารราชวิริยาลังการวัดไร่ขิงพระอารามหลวง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เป็นองค์ประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข (ส่วนกลางและระดับหน) โดยมีพระเทพศาสนาภิบาล รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง รองประธานอนุกรรมการโครงการ วัดประชา รัฐ สร้างสุข พร้อมพระเถรานุเถระ ถวายสักการะ และกล่าวถวายรายงาน  ร่วมด้วยนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และนายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน และนางฐิติรัตน์ เค้าภูไท วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม   ร่วมถวายการต้อนรับ ตามที่มหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6+1 โครงการที่13 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดเป็นสถานที่สะอาดร่มรื่นเหมาะสมกับการเรียนรู้และการจัดการสิ่งแวดล้อมวิถีพุทธอย่างยั่งยืน  โดยการมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ โดยมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย

ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการขับเคลื่อนโครงการฯในทุกระดับโดยมี วัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ภาคเอกชนจับคู่ร่วมกันพัฒนาตามหลักการที่กำหนดไว้อย่างสร้างสรรค์  ซึ่งมีวัดเข้าร่วมโครงการนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562จนถึงปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 5,128 วัด โดยมีคณะอนุกรรมการโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ส่วนกลางและคณะสงฆ์ฝ่ายสาธารณูปการในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อนดำเนินการ  เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นไปด้วยความต่อเนื่องเกิดสัมฤทธิ์ผลตามจุดมุ่งหมาย จึงได้มีจัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยเป็นการประชุมหารือของคณะอนุกรรมการโครงการในส่วนกลางและระดับหน จำนวน 150 รูป/คน เพื่อรับทราบนโยบายและแนวปฎิบัติในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อนำนโยบาย และแนวทางไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม ตามพันธกิจของโครงการฯที่กำหนดไว้ คือ

1.การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ

2.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ

3.การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนาโดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างวัดสวยด้วยความสุขและการสร้างวัดในใจคนต่อไปอีกด้วย