Breaking News

8 จังหวัดเฮ!! นำร่องทุกครัวเรือน ปลูกผักสวนครัวทะลุ 100% อธิบดีพช. มั่นใจสิ้นเดือนมิถุนายน กว่า 12 ล้านครัวเรือนร่วมปลูกผักทั่วประเทศ

8 จังหวัดเฮ!! นำร่องทุกครัวเรือน ปลูกผักสวนครัวทะลุ 100% อธิบดีพช. มั่นใจสิ้นเดือนมิถุนายน กว่า 12 ล้านครัวเรือนร่วมปลูกผักทั่วประเทศ หนุนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยความคืบหน้าของการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 และจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ว่า ขณะนี้มี 8 จังหวัด ที่นำร่องรณรงค์ทุกครัวเรือนจนปลูกผักสวนครัวครบ 100% แล้ว ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธ์ จังหวัดตาก จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุดรธานี และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมั่นใจว่าทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทย จำนวนเกือบ 13 ล้านครัวเรือน จะร่วมปลูกผักสวนครัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ อย่างแน่นอน

นายสุทธิพงษ์กล่าวด้วยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราช ประทานเมล็ดพันธุ์ผักให้แก่วัดทั่วประเทศ ทั้งยังให้วัดที่มีพื้นที่ดินอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ดินวัดปลูกผักสวนครัว ตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย นับเป็นบุญของพี่น้องชาวไทย ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระเมตตา นับเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนแก่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก

“ขณะนี้ 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมพลังปลูกผักสวนครัวไปแล้วถึง 11,979,004 ครัวเรือน คิดเป็น 92.31% (ข้อมูล 13 มิ.ย. 63) ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วมาก และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จะสามารถช่วยลดรายจ่ายจากการซื้อผักมาบริโภคในระดับครัวเรือน โดย 1 ครัวเรือนสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 50 บาท/วัน ถ้า 12 ล้านครัวเรือนจะลดรายจ่ายวันละ 600 ล้านบาท หรือประมาณ 216,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนมีเงินเก็บไว้ใช้สอยในสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกันคนไทยก็มีผักรับประทานตลอดทั้งปี เป็นพืชผักปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากสารพิษตกค้าง และยังส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งมีความมั่นคงทางอาหารขจัดหิวโหยให้หมดไปซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 2 คือ Zero Hunger หรือขจัดความหิวโหยนั่นเอง  นอกจากนี้เมื่อครบกำหนด 90 วันตามโครงการ จะมีการประเมินผลการดำเนินงานทั่วประเทศ โดยกำหนดแผนว่าครัวเรือนที่สามารถปฏิบัติตามแผนได้อย่างต่อเนื่องและถูกต้อง จะให้สมัครเป็นสมาชิกโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเองในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป” นายสุทธิพงษ์กล่าว