Breaking News

อำนาจเจริญ อธิบดีพช.พร้อมประธานสภาสตรีฯ ลงพื้นที่ให้กำลังใจกลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบาและ กองทุนพัฒนาสตรีหนุนสืบสานพระประณิธาน”สมเด็จพระพันปีหลวง”

อธิบดี พช.พร้อมประธานสภาสตรีฯ ลงพื้นที่ให้กำลังใจกลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบาและ กองทุนพัฒนาสตรี จ.อำนาจเจริญ หนุนสืบสานพระประณิธาน”สมเด็จพระพันปีหลวง”อนุรักษ์ผ้าไทย วอนผู้ว่าฯผลักดันให้มีวิชาเกี่ยวกับผ้าเสริมในหลักสูตรของทุกโรงเรียนรวมถึงการปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร


เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบา กลุ่ม OTOP ที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าทอมือ และการนำเสนอกิจกรรมส่งเสริมสตรีร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทย ของคณะทำงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญพร้อมนายกเหล่ากาชาดจังหวัด นายธนูศิลป์ ไชยศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางเพ็ญศิริญา ตั้งตระกูลวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทประชารัฐฯ นางประเสริฐ เพ็ญจันทร์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ บ้านนาแต้ ต.นาแต้ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยโดยเฉพาะผ้าไทยตลอดกว่า 60 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไปเยี่ยมเยียนราษฎร พระองค์ท่านจะอุดหนุน แนะนำ สวมใส่และจัดประกวดผ้าไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสสำคัญที่ว่า “Our Loss is our gain” ขาดทุน คือ กำไร ขาดทุนของเรา คือกำไรของประชาชนทุกคน ซึ่งหมายความว่าพระองค์ท่านทรงอุดหนุนเพื่อช่วยประชาชน เพื่อให้ทุกคนมีกำลังใจในการกลับไปทอผ้า เราทุกคนจึงต้องตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ยังทำให้พวกเรามีอาชีพ มีรายได้ และทำให้พวกเรามีผ้าประจำถิ่น ประจำจังหวัดของพวกเราเอง

ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงรื้อฟื้นไว้เพื่อต่อลมหายใจของผ้าไทย จึงได้ฝากให้ตระหนักในการส่งเสริมให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการทอผ้า การย้อมผ้า การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ที่เกี่ยวกับผ้า รวมทั้งการฝึกการทอผ้า จึงขอฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาของจังหวัด ช่วยหาโอกาสผลักดันให้วิชาเกี่ยวกับผ้าเป็นวิชาเสริมในหลักสูตรของทุกโรงเรียนในจังหวัดอำนาจเจริญ รวมถึงช่วยกันปลูกฝังในเรื่องของการปลูกพืชผักสวนครัว ให้กับคนรุ่นหลังด้วย เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองได้

“ผมรู้สึกดีใจที่ได้มาจังหวัดอำนาจเจริญเป็นครั้งที่ 2 โดยวันนี้ได้มาพร้อมกับท่านประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และทีมงานที่ได้กรุณาเสียสละเวลา ให้ผมได้มีโอกาสได้รับความรู้ และเป็นกำลังใจ ไปกับพี่ ๆ น้อง ๆ กลุ่มทอผ้า กลุ่มพลังสตรีฯ ที่เป็นหลักของครอบครัว และของประเทศชาติ ซึ่งในวันนี้ก็มีข่าวดีด้วย อย่างแรกคือขอเชิญชวนให้ทุกท่านหันมาปลูกพืชผักสวนครัวกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงมีพืชผักที่ปลอดภัยในการรับประทานอาหาร และอีกเรื่องที่มีความสำคัญและต้องขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้ที่รับเรื่องเพื่อเสนอ ครม. ก็คือ กรมการพัฒนาชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากสภาสตรีฯ ในการรณรงค์ให้คนสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น รณรงค์ให้ทุกส่วนราชการสวมใส่ผ้าไทย เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งเป้าหมายที่ท่านประธานสภาสตรีฯ ได้กำหนดไว้ให้สวมใส่ทุกวันจึงเป็นผลสำเร็จ รวมถึงการเผยแพร่ทางแผ่นพับ โบรชัวร์ ป้ายการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนรู้จักผ้าไทยกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจะมีการรวบรวม เรื่องราวของผ้าไทยทุกจังหวัด ทั้งเรื่องลายผ้ารวมถึงการทอผ้า การทำแบบนี้มุ่งหวังให้พวกเรามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน ทุกวันนี้คนทอผ้าไม่มีมาก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ทอผ้ากัน เพราะฉะนั้นจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นจังหวัดน้องนุชสุดท้องต้องช่วยกัน ให้ลูกหลานได้สืบสานรักษามรดกผ้าไทยเอาไว้ เพราะว่าเป็นความภาคภูมิใจ เป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้กับเรา ต้องช่วยกันรักษาสืบทอดไม่ให้หายไปจากประเทศของเรา” อธิบดี พช. กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกลุ่ม OTOP ที่กรมการพัฒนาชุมชนร่วมส่งเสริมจนมีศักยภาพสามารถปรับตัวให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำผ้าขาวม้าทอมือชาวบ้านในท้องถิ่นของจังหวัดอำนาจเจริญ ทั้ง 7 อำเภอ มาแปรรูปเป็นกระเป๋าและของใช้ต่างๆ และตัดเย็บโดยกลุ่มแปรรูปผ้าในจังหวัด แล้วใช้ช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนคนอำนาจเจริญ เดือนละมากกว่า 1 ล้านบาท จากการทอผ้ากว่า 400,000 บาท และรายได้จากการแปรรูปผ้าคือเย็บกระเป๋า ตัดเย็บเสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ อีกกว่าเดือนละ 500,000 บาท จนเป็นที่มาของคำว่า “อำนาจเจริญ ผ้าขาวม้าเงินล้าน”