อธิบดี พช. ขับเคลื่อนชุมชนน้อมนำศาสตร์พระราชา สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากครัวเรือน หลุดพ้นความยากจน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เดินหน้า “หิ้วปิ่นโต ไปเอามื้อถือจอบเสียม พลิกฟื้นแผ่นดิน” ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต นำพลังชุมชน พัฒนาตนเอง สร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องประชาชนพึ่งตนเองได้ 15 จุดนำร่องทั่วประเทศ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดิน ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยการปรับสภาพพื้นดินในขนาดเท่าที่มีให้สามารถเก็บน้ำ ทำแปลงเกษตรอินทรีย์ ปลูกต้นไม้ยืนต้น อันเป็นแนวทางที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นวิกฤตของโลกให้หมดสิ้นไป ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม อาหารไม่ปลอดภัยด้วยสารเคมี ยาฆ่าแมลง ฝุ่นละออง
ในปัจจุบันป่าไม้ลดลง จนทำให้ธรรมชาติขาดสมดุลย์ กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และ Earth Save โดยนางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ร่วมขับเคลื่อนให้แนวทางตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการ “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเตรียมวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้แข็งแกร่ง มุ่งหวังให้เกิดการแก้ปัญหาประเทศและปัญหาวิกฤตโลก ใน 3 ประเด็นที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ ด้านน้ำ ด้านอาหาร และด้านพลังงาน สามารถเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติ เป็นที่พึ่งของประชาชนในประเทศได้ ป้องกันปัญหาและลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียได้ ซึ่งกำหนดให้มีการเตรียมความพร้อมใน 4 มิติ คือ คน ความรู้ เครือข่าย และการขยายผล ดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน และบุคลากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน
การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย “โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร” ซึ่งเป็นหนทางรอดในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน กรมฯ จึงได้กำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเอามื้อสามัคคี 15 จุดนำร่อง ตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ จ.สิงห์บุรี จ.ปราจีนบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชัยนาท จ.สุพรรณบุรี จ.อ่างทอง จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.นนทบุรี จ.สระบุรี จ.พะเยา จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ลพบุรี และ จ.น่าน เปิดพื้นที่สร้างครัวเรือนตัวอย่างที่มีการนำรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” บริหารจัดการพื้นที่ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 ครอบครัว สร้างการเรียนรู้ ปรับประยุกต์ใช้รูปแบบดังกล่าวตามภูมิสังคมและภูมินิเวศน์พื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม เพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น มีการปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ เพื่อใช้ประกอบอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารของครัวเรือน เช่น ไก่ เป็ด ปลา ในพื้นที่ของตนเอง ยึดหลักการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดการ “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” และพัฒนาพื้นที่ของตนเองจนกลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยแล้ง นำ้ท่วม ทำให้ทุกครอบครัวที่ทำมีความมั่นคงของชีวิต รับประกันว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะนำความสุขมาสู่พี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง
กรมการพัฒนาชุมชน ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน มาร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชน มาร่วมพลิกฟื้นแผ่นดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศชาติกันนะครับ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง (สระบุรี, ชลบุรี, อุบลราชราชธานี, อุดรธานี, นครราชสีมา, ลำปาง, พิษณุโลก, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช, ยะลา และ นครนายก) ศูนย์ฝึกอาชีพ 6 แห่ง และวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน 1 แห่งใกล้บ้านท่าน ซึ่งทั้งหมดนี้ “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และหากท่านพบบุคคลแอบอ้างเรียกเก็บเงิน แจ้งเบาะแสร้องเรียนที่ 0-2141-6254 หรือ 08-9921-3784 ศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และหน่วยงานสังกัดกรมการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศได้ทันที อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย