อธิบดี พช.ตีกลองสะบัดชัยชวนชื่นชมผ้าถิ่นไทยงาม ในงาน”ศิลปาชีพล้านนาไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ครั้งที่ 2
วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานในการเปิดงาน “ศิลปาชีพล้านนาไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ และนางสาววรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ นายกสมาคมสตรีศรีนครเชียงใหม่ กล่าวรายงานถึงการจัดกิจกรรม
โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ให้การส่งเสริม สนับสนุนการสร้างและพัฒนาอาชีพ ให้แก่พี่น้องประชาชน ผ่านโครงการหลาย ๆ โครงการของกรมการพัฒนาชุมชน อาทิเช่น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่นำเอาภูมิปัญญามาพัฒนาต่อยอด โดยฝีมือของประชาชนคนไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ พัฒนาจนมีคุณภาพ และได้มาตรฐานระดับสากล เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ช่วยให้มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น งานศิลปาชีพฯ นอกจากการสร้างงาน สร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สืบทอด และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของความเป็นไทย ให้ประชาชนชาวไทยมีความภาคภูมิใจ ในภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ให้มีอาชีพและรายได้ และยังร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ซึ่งได้ประกาศต่อมหาสมาคม ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ว่า จะสืบสาน รักษา และต่อยอด สิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ พระราชชนนีพันปีหลวง ทรงทำไว้ ซึ่งพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ที่พระราชทานพระราชดำรัสในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 มีใจความสำคัญว่าพระองค์จะสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย ดังนั้น พวกเราจงภูมิใจที่ได้ช่วยกันสืบสานพระราชปณิธาน และงานในครั้งนี้เป็นการรวมพลังขององค์กรสตรีในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง พร้อมยกย่องเชิดชูเกียรติคุณความดีของสตรีที่สร้างคุณค่าที่ดีแก่สังคม
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า ผ้าทอไทยมีความสวยงาม ล้ำค่า ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยต่อไป และผ้าทอทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยแรงกายแรงใจของสตรี หากว่าคนไทยเพียง 35 ล้านคน ร่วมใจใส่ผ้าไทยทุกวัน และทุกคนซื้อผ้าไทยเพิ่มคนละ 10 เมตร ๆ ละ 300 บาท สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กว่า 1 แสนล้านบาทกลับสู่ชุมชน สตรีมีรายได้ช่วยจุนเจือครอบครัว ช่วยขจัดปัญหาความยากจนในประเทศ ช่วยให้ลูกหลานมีชีวิตความเป็นอยู่ และมีอนาคตที่ดีขึ้น ที่ซึ่งจะเป็นอนาคตที่ดีของชาติบ้านเมืองต่อไป ดังนั้นถือได้ว่า สตรีมีบทบาทอย่างยิ่งในการสืบสานและดำรงผ้าไทยไว้ซึ่งคุณค่าของแผ่นดิน และอยากขอฝากเยาวชนสตรีคนรุ่นใหม่ ช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอดในการสวมใส่ผ้าไทยแล้ว ยังต้องช่วยกันสืบสานภูมิปัญญา วิธีการทอผ้าถิ่นไทยในพื้นที่ต่างๆของไทย เหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป
ด้าน นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มากถึง 626 โครงการ ทั่วพื้นที่จังหวัด อาทิ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการทำทำอาชีพในชุมชน หรือโครงการศิลปาชีพ ทั้งการทอผ้า ปักผ้า แกะสลัก และทำเครื่องเงิน โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ในการส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูอาชีพ และผ้าทอชนิดต่างๆของท้องถิ่นไทย การจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และในภาคเหนือ นับว่าเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูอาชีพ และผ้าทอชนิดต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือ และยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และจำหน่าย ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความภาคภูมิใจ ในศิลปวัฒนธรรมผ้าทอของตนเอง ส่งผลให้มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจของชาติให้มั่นคงอีกทางหนึ่ง
งาน “ศิลปาชีพล้านนาไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี ครั้งที่ 2” นี้ มีการจัดกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะโครงการศิลปาชีพและโครงการฟาร์มตัวอย่าง โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ในจังหวัดเชียงใหม่ การจัดนิทรรศการผ้าโบราณ สืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย กิจกรรมการเชิดชูเกียรติสตรีศรีนครเชียงใหม่ ผู้สืบสานพระราชปณิธานแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2563 ประกอบด้วย การเชิดชูเกียรติให้แก่สตรีศรีนครเชียงใหม่ การเชิดชูเกียรติให้แก่เยาวสตรีศรีนครเชียงใหม่ รวมจำนวน 64 คน การประกวดงานฝีมือที่สืบสานอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทสตรีกับการพัฒนาสังคมไทย” โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ การจัดแสดงผลงานศิลปาชีพ การจัดนิทรรศการของโครงการหลวง การสาธิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ OTOP ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 150 บูธ การเดินแบบผ้าไทยล้านนาและผ้าไทยประยุกต์ กิจกรรมการแสดงของกลุ่มเยาวสตรีศรีนครเชียงใหม่ วง CGM48 และการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งที่มีชื่อเสียง ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการประกวดร้องเพลงมาร์ชพัฒนาชุมชน “ปลุกใจ เติมไฟ เติมฝัน เมล็ดพันธุ์ พช. เอาเรี่ยวแรง ร่วมทำงาน สร้างชุมชน” รอบชิงชนะเลิศ จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ/ข่าว พช.เชียงใหม่ ทีมสารสนเทศการพัฒนาชุมชน
สถานีข่าว พช.CNS รายงาน