ม.อุบลฯ ร่วมสานฝันเยาวชนไทยสู่ เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ระดับประเทศ ประจำปี 2562 Research to Market: R2M Thailand 2019 ภายใต้การสนับสนุนของ สอว. ที่ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในนามเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ร่วมกับ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานประกวดแผนธุรกิจระดับชาติ ภายใต้ชื่อโครงการแข่งขัน “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ระดับประเทศ ประจำปี 2562” Research to Market: R2M Thailand 2019 ซึ่งสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ให้การสนับสนุน ขึ้น โดยมี นายเธียรชัย พุทธรังสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับและเป็นประธานเปิดการแข่งขัน รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมาสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทดลองออกแบบแนวคิดทางธุรกิจโดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน ซึ่งดำเนินการโดยการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในสถาบันการศึกษามาเป็นโจทย์ให้นักศึกษาจัดทำแผนธุรกิจและนำเสนอในเวทีการแข่งขัน โดยมีการแข่งขันเพื่อคัดกรองตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย ระดับภาค จนถึงการแข่งขันในระดับประเทศในวันนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในนามเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค กล่าวว่า โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นช่องทางการเฟ้นหาผลงานนวัตกรรมเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย และเชื่อมต่อสู่การใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์อย่างตรงเป้าหมายที่สุด และเป็นเวทีที่สามารถส่งผลงานวิจัยไปสู่ความประสบผลสำเร็จทางธุรกิจมาแล้วหลายรายการ สำหรับการจัดการประกวดในปี 2562 นี้ เป็นการจัดการแข่งขันปีที่ 6 และจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพ และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจากทั่วประเทศส่งทีมเข้าแข่งขัน ในปีนี้มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 20 ทีม จาก 14 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีผลงานนวัตกรรมเด่น ๆ ส่งเข้าแข่งขันมากมายทั้งในกลุ่มของนวัตกรรมทางการแพทย์และเครื่องสำอาง นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต และนวัตกรรมทางการเกษตร เป็นต้น แต่ละทีมจะต้องนำเสนอจุดเด่นของนวัตกรรมและแผนธุรกิจของนวัตกรรมนั้น ๆ ในเวลาจำกัด โดยแสดงความเป็นไปได้ของธุรกิจให้มากที่สุด ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 50,000 บาท รวมเงินรางวัลทุกรางวัลมูลค่าสูงถึงกว่า 100,000 บาท ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังมีผู้เข้าร่วมชมการประกวดจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาจากประเทศ สปป.ลาว อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เอกชน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมรับฟังเพื่อจะได้เห็นแนวทางการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดทางธุรกิจต่อไปได้ด้วย
ธนัชชัย จึงเจริญ รายงาน