Breaking News

พช.ร่วมขับเคลื่อน โคก หนอง นา ป่าลำใย ลุ่มน้ำน่าน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พช.ร่วมขับเคลื่อน โคก หนอง นา ป่าลำใย ลุ่มน้ำน่าน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

********************************

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9:00 น. ณ เสาหลักเมือง วัดมิ่งเมือง ต.ในเมือง จังหวัดน่าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเสาหลักเมือง วัดมิ่งเมือง จังหวัดน่าน จากนั้น ร่วมบันทึกข้อตกลงความรวมมือส่งเสริมเกษตรอินทรีย์พอเพียงโครงการ “โคก หนอง นา ป่าลำไย ลุ่มน้ำน่าน” กับ 16 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานจังหวัดน่าน, กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน, กองทุนภูมิไทยพัฒนา, มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Eart safe Foundation), บริษัท เอามื้อสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด, บริษัทไทธนบุรีคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เอิร์ธแคร์ อินโนซิส จำกัด, บริษัทพีซี อินโนวา จำกัด, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน, สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัทเขาใหญ่พาโนราม่า ฟาร์ม จำกัดการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาการทำเกษตรภายในพื้นที่จังหวัดน่านให้เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มต้นที่การเพาะปลูกลำไยซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดน่านให้เป็นผลผลิตลำไยอินทรีย์พร้อมด้วยการสนับสนุนตลาดผู้รับซื้อผลผลิตเพื่อให้ผลผลิตลำไยอินทรีย์ได้มาตรฐานและสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการ โคก หนอง นา ป่าลำไย ลุ่มน้ำน่าน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า เชื่อมั่นในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานให้กับพี่น้องคนไทยและทรงทำให้เป็นตัวอย่างว่าเราต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อนๆ ที่จะก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง และร่ำรวย ซึ่งศาสตร์ของพระราชาตามทฤษฎีใหม่ในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่คนไทยให้การยอมรับในวงกว้างเป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว ในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชนก็พยายามขับเคลื่อนตามแนวของศาสตร์พระราชา ด้วยการขอให้ทุกภาคส่วนช่วยการขับเคลื่อนให้ทุกครัวเรือนมีพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ซึ่งการที่ทุกครอบครัวพึ่งพาตัวเองได้สำคัญที่สุดก็คือว่ามั่นใจได้ว่าพืชผักต่าง ๆ ที่รับประทานในชีวิตประจำวันจะปลอดภัยส่วนในเรื่องของอาชีพเราพยายามจะทำให้ทุกหมู่บ้านให้พี่น้องประชาชนสมัครใจในการประกอบอาชีพตามรูปแบบ โคกหนอง นา โมเดล การจัดงานครั้งนี้ทำให้เชื่อมั่นว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นเรื่องที่ทำได้แล้วก็สามารถทำให้ทุกคนได้ทั้งบุญ คือ ให้ทุกคนปลอดภัย แล้วก็ทำให้โลกของเรามีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเราต่อต้านเรื่องการเผา เช่น การเผาป่า เผาตอซัง และงานในวันนี้ โคก หนอง นา ป่าลำไย เป็นสิ่งที่เพิ่มพูนความเชื่อมั่นทางวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบธุรกิจอย่างบริษัท ไทธนบุรี คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้มีอุดมการณ์ในการทำธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่ธุรกิจเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยของตัวเองอย่างเดียว บวกกับเขาใหญ่พาโนรามา ซึ่งก็ทำธุรกิจเพื่อสังคมอยู่แล้ว สามารถทำให้เกษตรกรมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนได้ ควบคู่กับการช่วยทำบุญให้กับลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ ไป ให้มีโลกที่สวยงามได้อยู่อาศัยเพราะฉะนั้นผมเองก็ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง มั่นใจว่างานงานนี้จะทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ขอให้ทุกท่านที่มีส่วนร่วมได้รับสิ่งที่ดีงาม ประสบความสำเร็จมีกำไรกลับคืนสู่พี่น้องเกษตรกรเพื่อทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนมากทวีคูณทุกปี


อธิบดีฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ลำไยหรือสารสกัดจากเห็ดหลินจือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นในลักษณะประชารัฐโดยแท้ที่มีทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคนักธุรกิจ และภาคราชการ ช่วยกันขับเคลื่อน โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญก็คือทำให้เกิดอาหารที่ปลอดภัยเป็นเกษตรอินทรีย์ ใช้ชีวิตแบบไม่เบียดเบียนโลก ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและมีการนำงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา และสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์ยิ่งของประเทศ ก็คือ 1 นักธุรกิจดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม คือ มีการพัฒนาภาคีเครือข่ายเกษตรกรให้ยกระดับเป็นเกษตรอินทรีย์เกษตรปลอดภัย และมีการนำองค์ความรู้โดยนำศาสตร์พระราชาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ในชีวิตประจำวัน และมีการนำเอา Know How หรือภูมิปัญญาที่นักวิชาการจากคณะเภสัชศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาพัฒนา ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สารสกัดจากลำไยและเห็ดหลินจือ สามารถส่งขายในต่างประเทศได้และที่สำคัญที่สำคัญยิ่งก็คือ 1. เขาให้ราคาพืชผลเกษตรกรรมอย่างลำไยที่ปลูกผักปลอดสารพิษในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด เป็นราคารับประกัน 2.เขาให้เงินจูงใจให้กับผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ เพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 8 บาท 3. ผลิตภัณฑ์ที่เขาส่งขายแล้วได้กำไรครึ่งหนึ่งของกำไร จะส่งคืนกลับมาในพื้นที่เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นเกษตรปลอดภัยและเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชนมีพันธะสัญญาร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้ง ภาคีเครือข่ายอื่น ๆ หลายองค์กร ในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ไปยังทุกครัวเรือนให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งถ้านำเอาโคก หนอง นา โมเดล มาใช้ในสวนผลไม้ก็จะสามารถทำให้เกิดผลดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งงานนี้จะสามารถทำให้เกิดการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านนายปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่าเนื่องด้วยเกษตรกร ในพื้นที่ปัจจุบันมีการนำสารเคมีเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ทางการเกษตรจนทำให้เกิดปัญหาการใช้สารเคมีในปริมาณมากเกินความจำเป็นและเกิดการตกค้างสะสมสารเคมีในดินน้ำมลภาวะทางอากาศ และห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคสินค้าเกษตรที่มีสารเคมีตกค้างและสารพิษที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ส่งผลให้คนไทยมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการขับเคลื่อน สืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาแผ่นดินจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำ อาหาร และพลังงาน นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนโลก (SEP to SDGs) โดยบริษัทเขาใหญ่ พาโนราม่าฟาร์ม จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพลำไยไซรับ ผสมสารสกัดเห็ดหลินจือ มีความประสงค์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรลดภาระหนี้ภาคการเกษตรฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำลดปัญหาอุทกภัยโดยมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและระบบการผลิตในแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ เลิกการใช้เคมีเกษตรทุกชนิด โดยก้าวแรกได้เริ่มขึ้นจาก “ลำไยเมืองน่าน” ผ่านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มลำไยไซรับ ผสมสารสกัดเห็ดหลินจือภายใต้ โครงการโคกหนองนาป่าลำไยลุ่มน้ำน่านโดยมีเป้าหมายในการดำเนินงานในพื้นที่ลำไยแปลงใหญ่จำนวน 6 แปลง ได้แก่
1.แปลงลำไยตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 2. แปลงลำไยบ้านตึ๊ด ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 3 .แปลงลำไยตำบลตาลชุมอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 4 .แปลงลำไยตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 5. แปลงลำไย ตำบลขึ่ง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน 6.แปลงลำไยตำบลอ่ายนาไลย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน…นายปรเมศวร์ กล่าว

ข่าว/ภาพข่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดน่าน
สถานีข่าว พช. CNS. รายงาน