ม.ล.ปนัดดา สนทนากับเยาวชนที่อยากเป็นข้าราชการในอนาคต ‘การใช้ภาษาไทย ว่าด้วยหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี’
19 ต.ค.62 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา และประธานพิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวส่วนหนึ่งจากพูดคุยสนทนาของ เรื่อง ‘การใช้ภาษาไทย ว่าด้วยหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี’ กับลูกหลานเยาวชน นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ ณ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
“สุภาษิตไทย ‘สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล’ ไม่ได้หมายความว่าเป็นภาษาของท้องถิ่นใด ชาติใด ตระกูลวงศ์ใด เป็นคนสำคัญหรือไม่ ครอบครัวเล็กหรือใหญ่ ยากดีมีจนคือคนเหมือนกัน ฯลฯ แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก กล่าวคือ “สำเนียงส่อภาษา” มีความหมายว่า การพูดด้วยวาจาที่สุภาพเรียบร้อย น้ำเสียงน่าฟัง น่าสนทนาด้วย จะอยู่ในสังคมใดก็เป็นที่นิยม เป็นที่เอ็นดูรักใคร่ แม้การกล่าวสุนทรพจน์ก็กล่าวด้วยความสำรวม ใช้ปัญญานำทาง ชวนติดตามฟังตั้งแต่ปฐมบทจนจบ แต่ถ้าเป็นการพูดด้วยวาจาที่ไม่สุภาพ เห่อเหิม คุยโวโอ้อวด ใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่น ปราศจากเหตุผล ว่ากล่าวขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ลบหลู่บุพการีชน สำคัญตนผิด รวมถึงการใช้ถ้อยคำ ซึ่งหมายถึงการใช้คำศัพท์ที่ไม่น่าฟัง อวดรู้อวดเบ่ง อวดมั่งอวดมี ทำให้คนที่ได้ยินเสียงแต่ไม่ทันเห็นตัวยังเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีและไม่อยากพบเจอตัวจริง จึงกล่าวได้ว่า การพูดด้วยภาษาที่น่าฟัง มีความเหมาะสม ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วไป ส่วน “กิริยาส่อสกุล” มีความหมายว่า อากัปกิริยาท่าทางการแสดงออก คนหลงลืมตัว เป็นประเภทกิ้งก่าได้ทอง เป็นอึ่งอ่างพองลมกระทั่งตัวระเบิด เป็นคางคกขึ้นวอ ย่อมอธิบายให้ผู้พบเห็นหรือสัมผัสรู้ได้ว่า บุคคลผู้นั้นได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างไร หรือจากใคร กิริยาที่ปรากฏ ถ้อยคำวาจาที่เลือกใช้ จะช่วยนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต เสริมสร้างคุณค่าของการดำรงชีวิตคุณภาพตราบจนวันสุดท้าย ลูกหลานเยาวชนจึงต้องมีความรอบคอบ มีความสุขุมคัมภีรภาพ ในการครองตน ครองคน และครองงาน ต่อการดำรงสัมมาชีพใดก็ตาม รวมถึงการรับราชการ ประการสำคัญ คือ จะไม่ทุจริตคดโกง ไม่กล่าวคำเท็จ ไม่รับสินบาทคาดสินบน ไม่ประจบสอพลอเพื่อให้ตนได้ดีแล้วทำลายล้างผู้อื่น อันถือเป็นบาปมหันต์และความผิดใหญ่หลวงที่ข้าราชการพึงสำนึกตลอดเวลา”
#สนทนากับลูกหลานเยาวชนที่อยากเป็นข้าราชการในอนาคต#
#พิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ#